“คมนาคม-ร.ฟ.ท.” เฮ ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ให้ “โฮปเวลล์” กรณีบอกเลิกสัญญาสัมปทาน หลังศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ 2 ฉบับปี 2551 ชี้คำวินิจฉัยอนุญาโตฯ ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เหตุไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะโฮปเวลล์ยื่นเรื่องเกินเวลาร้องตาม กม.
ศาลปกครองกลางมีคำพืพากษาสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 12,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กับบริษัท โฮปเวลล์ จำกัด กรณีกระทรวงคมนาคมบอกเลิกสัญญาสัมปทาน
โดยคดีดังกล่าวเนื่องมาจาก กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญาระหว่างกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด คู่สัญญาสัมปทานระบบขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ร.ฟ.ท.ซึ่งอนุญาโตฯ วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม-ร.ฟ.ท.ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้ บจก.โฮปเวลล์ จากการบอกสัญญาไม่เป็นธรรม
ส่วนที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฯ ระบุว่า พิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า การที่ทั้ง บจก.โฮปเวลล์ และกระทรวงคมนาคม กับ ร.ฟ.ท. ต่างยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น เป็นการยื่นเรื่องให้วินิจฉัยที่เกินกรอบระยะเวลา 60 วันที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ 31 และระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในระยะเวลาสูงสุด 5 ปี ตามมาตรา 50 และ 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ได้บอกเลิกสัญญากับ บจก.โฮปเวลล์ วันที่ 27 ม.ค. 2541
ดังนั้น หากจะยื่นเรื่องอนุญาโตฯ วินิจฉัยต้องกระทำภายในวันที่ 27 ม.ค. 2546 ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายรับทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญา เมื่อปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายยื่นเรื่องให้อนุญาโตฯ วินิจฉัยหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวตามกฎหมายแล้ว อนุญาโตฯ จึงไม่มีอำนาจที่รับเรื่องไว้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งการที่อนุญาโตฯ มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ออกมาในวันที่ 30 ก.ย. 2551ที่ให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้ บจก.โฮปเวลล์ เนื่องจากบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม และคำวินิจฉัยขี้ขาดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 ที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่รับคำร้องกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.เนื่องจากเห็นว่ากระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับ บจก.โฮปเวลล์นั้น จึงถือเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
ดังนั้น ศาลปกครองที่มีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทสัญญาทางปกครอง จึงมีอำนาจเพิกถอนหรือปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตฯ วันที่ 30 ก.ย. 51 และ 15 ต.ค. 51 ทั้งฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายนั้นคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกภายใน 30 วัน