ช่วงทดลองออกอากาศของทีวีดิจิตอลเป็นเหตุ ลูกค้าชะงักใช้งบโฆษณาหลังพบคนไทยหาช่องทีวีไม่เจอ กลัวโฆษณาไม่ถึงสายตาผู้ชม “ชูโอ เซ็นโก” ส่งกลยุทธ์ “มาร์เกตไทซิ่ง” กู้สถานการณ์ ปักหมุดลุยออนไลน์สร้างการรับรู้ พร้อมจับฐานลูกค้าภาครัฐ ลงทุนต่างประเทศมากขึ้น หวังทั้งปีมียอดบิลลิ่งโต 5% สู่ 1,600 ล้านบาท และมีรายได้รวมที่ 400 ล้านบาท
นายชูจิ โอคาวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทเอเยนซีโฆษณา เปิดเผยว่า ผลจากการทดลองออกอากาศของทีวีดิจิตอลในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หาเลขช่องฟรีทีวีที่จะชมไม่เจอ ส่งผลให้ลูกค้าที่ซื้อสื่อโฆษณาทางฟรีทีวีค่อนข้างกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าการลงโฆษณาจะไม่เข้าถึงผู้ชมอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป และต้องรอไปอีก 1-2 เดือน
ทั้งนี้ คงต้องรอจนกว่าทีวีดิจิตอลจะพร้อมทั้งในเรื่องของการวัดเรตติ้ง คอนเทนต์ที่แข็งแกร่งและเลขช่องที่แน่นอน ลูกค้าจึงจะกลับมาทบทวนเม็ดเงินที่จะใช้ในทีวีดิจิตอลใหม่ บวกกับสถานการณ์ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมากับสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ล้วนส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาลดลง
ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2556 (เม.ย.56-มี.ค.57) บริษัทจึงมีนโยบายในการลงทุนเพิ่มทั้งในและต่างประเทศใน 6 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา พม่า และอินเดีย พร้อมลงทุนในฟิลิปปินส์อีก 1 ประเทศ แต่ปีนี้จะให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นหลัก เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไทยจะเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มภาครัฐมากยิ่งขึ้น เช่น กสท. และอีก 2-3 หน่วยงานที่กำลังอยู่ในช่วงของการพิตงาน
ถึงสิ้นปีนี้จึงมั่นใจว่าภาพรวมผลประกอบการน่าจะทำได้ 1,600 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5% และจำนวนดังกล่าวคิดเป็นรายได้รวมบริษัทอยู่ที่ 400 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ไทย 75% และต่างประเทศ 25% โดยสัดส่วนรายได้ในไทยนั้น 90% มาจากลูกค้าเอกชน และ 10% มาจากภาครัฐ ส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณาเชื่อว่าน่าจะทรงตัว หรืออาจจะโตขึ้นได้เพียง 1-2% เท่านั้น
นายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลของการเกิดทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ บริษัทได้นำเสนอ “มาร์เกตไทซิ่ง” เป็นการทำโฆษณาแนวคิดใหม่ที่เชื่อว่าจะตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นวิธีการนำเสนอโฆษณาโดยการนำเอาเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์มาสร้างภาพยนตร์โฆษณาชูในเรื่องของการสร้างแบรนดิ้งผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น พร้อมให้ผู้ชมเป็นสื่อด้วยตัวมันเองในลักษณะบอกต่อแบบไวรัลมาร์เกตติ้ง ถือเป็นแนวคิดที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเช่นกัน
“ในช่วงที่ทีวีดิจิตอลกำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองออกอากาศ แต่ผู้ชมกลับหาช่องฟรีทีวีหลัก 5 ช่องไม่เจอ บวกกับทางเลือกในการรับชมมีมากกว่าเดิมอีก 10-20 ช่อง ระหว่างนี้ลูกค้าต้องมองหารูปแบบโฆษณาในสื่อใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ลูกค้าค่อนข้างสนใจและตรงกับกลยุทธ์ที่ทางบริษัทนำเสนอแก่ลูกค้า หลังจากดิจิตอลทีวีแข็งแกร่งมากขึ้นลูกค้าก็พร้อมที่จะกลับมาทบทวนการใช้เม็ดเงินในสื่อทีวีอีกครั้ง ทั้งนี้มองว่าสื่อออนไลน์ปีนี้น่าจะโตได้ถึง 40% ส่วนสื่อทีวีน่าจะเท่าเดิม แต่ถูกแชร์การใช้เม็ดเงินไปในช่องรายการต่างๆ มากขึ้นแทน”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังนี้พบว่ากลุ่มลูกค้าประเภทยานยนต์จะชะลอการใช้งบโฆษณาลดลงจากตัวเลขยอดขายในปีนี้ที่ลดลงอย่างมาก หลังปีก่อนยอดขายสูงจากนโยบายรถคันแรก ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินเป็นกลุ่มใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญต่อสื่อออนไลน์สูงขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอาหารยังใช้เม็ดเงินโฆษณาในอัตราที่ยังเติบโตได้ดีอยู่