xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” สั่ง ทล.-ทช.ทบทวนแบบมาตรฐานก่อสร้างถนนและสะพานรับเหตุแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” สั่ง ทล.-ทช.ทบทวนมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างถนนและสะพานใหม่เพื่อรับแผ่นดินไหว เน้นพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือและตะวันตกให้เสร็จใน 6 เดือน พร้อมสั่งทำแผนเผชิญเหตุ กำหนดพื้นที่เสี่ยง เช่น มีปัญหาคันทางสไลด์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (14 พ.ค.) ว่า ได้ร่วมกันประเมินผลเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งถนนและสะพานของ ทล. ทช.ได้รับความเสียหาย โดยได้มอบหมายให้ ทล.และ ทช.ศึกษาทบทวนมาตรฐานการออกแบบก่อสร้าง โดยเฉพาะค่ามาตรฐานเพื่อรองรับแผ่นดินไหวให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงจัดทำแผนเผชิญเหตุ (Risk Map) ในพื้นที่เสี่ยงภาคเหนือและภาคตะวันตก แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ขณะที่ กทพ.ที่รับผิดชอบการก่อสร้างทางด่วนนั้นจะต้องทบทวนเช่นกันเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ ในส่วนการสำรวจความเสียหายอย่างละเอียดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยการทบทวนแบบมาตรฐานนั้นเนื่องจากสะพานของ ทล.มีทั้งขนาดใหญ่ ระยะสะพาน40-50 เมตร ส่วนใหญ่ออกแบบตามค่ามาตรฐานและขนาดเล็ก ให้ทบทวนทั้งหมด นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบคันทางซึ่งพบว่ามีปัญหาดินสไลด์ในจุดที่มีความชัน ซึ่งพบว่าไม่มีการออกแบบรับแผ่นดินไหวแบบมาตรฐานคำนวณรับแรงกดปกติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงเกิดการสไลด์ได้ง่าย

สำหรับค่ามาตรฐานในการก่อสร้างโครงสร้างทั้งถนน สะพาน และอาคารต่างๆ ในปัจจุบันการออกแบบจะอยู่ในระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ 0.25 G หรือ 25% ความโน้มถ่วงของโลก ขณะที่การก่อสร้างในกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ 0.1 G ส่วนความเสียหายจากแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกรมทางหลวงได้ตรวจสอบสะพานในพื้นที่ 218 สะพาน ในรัศมี 50 กม.มีความเสียหาย 2 แห่ง โดยพบลักษณะรอยต่อของสะพาน, สะพานแม่น้ำลาวพบความเสียหายบนพื้นสะพาน ราวสะพานเป็นบริเวณใกล้รอยต่อ, สะพานลอยคนข้ามบนทางหลวงหมายเลข 1 ที่ กม.905+400 พบความเสียหายจากการเคลื่อนตัวของคานสะพาน, การทรุดตัวของถนนทางหลวงหมายเลข 118 จำนวน 2 ช่วง บริเวณบ้านโป่งฟูเฟือง ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย ห่างจาก จ.เชียงราย 41 กม. และบริเวณบ้านห้วยส้านยาว ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ห่างจาก จ.เชียงราย 31 กม. ซึ่งขณะนี้ได้มีการแก้ไขให้สามารถสัญจรได้แล้ว

“นอกจากทบทวนการออกแบบใหม่แล้ว ทั้ง ทล.และ ทช.จะต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุในเส้นทางภาคเหนือและตะวันตก ซึ่งมี 22 จังหวัดที่มีความเสี่ยง ตามประกาศกระทรวงของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยในแต่ละจุดมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ต้องสำรวจแบบละเอียด บางจุดมีปัญหาคันทางเสี่ยงสไลด์ เวลาเกิดเหตุจะได้สำรวจจุดที่มีความเสี่ยงก่อน” นายชัชชาติกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น