ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการ มช. ชี้เชียงใหม่มีโอกาสเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวหนักซ้ำรอยเชียงราย หลังเคยเกิดเมื่อ 500 ปีก่อน ทำยอดเจดีย์หลวงหัก แต่รับไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้าได้ จี้รัฐปรับปรุงกฎหมายบังคับอาคารทุกหลังต้องรองรับแผ่นดินไหว ด้าน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ย้ำชัดยังดูแลรักษาคนไข้ได้ตามปกติไม่ต้องเคลื่อนย้ายหนี
วันนี้ (6 พ.ค.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าวกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ช่วงเย็นวานนี้ (5 พ.ค.) โดยที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวมีความรุนแรง และสร้างความเสียหายอย่างมาก ขณะนี้ในส่วนของนักวิชาการของคณะกำลังทำการสำรวจรวบรวมข้อมูลของการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้เพื่อทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป
สำหรับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่อำเภอพานนั้น ตามธรรมชาติจะยังคงมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง โดยเป็นการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนจนกว่าพลังงานที่สะสมไว้จะหมดไป แล้วค่อยๆ สะสมพลังงานใหม่จนกว่าจะมีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนอีกในอนาคต ซึ่งปกติจะต้องใช้เวลาอีกนาน
ดังนั้น เบื้องต้นหลังจากนี้ไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอีกโดยที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เดิมในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ก็อาจะมีความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในจุดอื่นแทน ซึ่งไม่สามารถที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้น อยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนที่มีพลังพาดผ่านหลายรอยเลื่อน แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 5 ริกแตอร์มานานแล้ว ซึ่งในอดีตเชียงใหม่เคยมีแผ่นไหวรุนแรงเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นได้จากองค์เจดีย์ของวัดเจดีย์หลวงที่หักพังลงมาเมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว ดังนั้น หากมองในแง่ความเป็นไปได้แล้วก็ต้องถือว่ามีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เช่นกัน
ขณะที่รองศาสตราจารย์ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวนั้นไม่สามารถที่จะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญและควรที่จะทำคือ การเตรียมการป้องกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ภาครัฐปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารให้มีการบังคับให้อาคารทุกหลังมีโครงสร้างที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหว ไม่ใช่บังคับเฉพาะแต่อาคารสูงเหมือนในปัจจุบัน
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่นั้น จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากกว่า 5 ริกเตอร์ มีอาคารที่มีความเสี่ยงมากที่จะได้รับผลกระทบถึงประมาณ 20% ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่า
ด้านรองศาสตราจารย์นายแพทย์วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย และคนไข้ของโรงพยาบาลแต่อย่างใด โดยสามารถดูแลได้ตามปกติ และไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายคนไข้
ขณะที่การสำรวจโครงสร้างอาคารพบว่า มีส่วนที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อย เช่น ปูนกะเทาะ เป็นต้น แต่ไม่มีผลต่อโครงสร้างหลักที่ยังมั่นคงแข็งแรงดี อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบและซ่อมแซมโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนระบบอื่นๆ เช่น ระบบไฟฟ้า และระบบท่อต่างๆ ยังเป็นปกติดี