นักวิชาการเผยแผ่นดินไหวที่เชียงรายยังฟันธงไม่ได้ว่าเกิดจากรอยเลื่อนใด แต่ทั้งนี้ทั่วภาคเหนือมีรอยแตกที่ซ่อนตัวอีกมากที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยกระจุกตัวหนาแน่นที่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน และลำปาง
จากกรณีแผ่นดินไหว ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 โดยมีศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไป 7.4 กิโลเมตร ซึ่งสร้างความเสียหายแก่อาคารต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงอาคารสูงในกรุงเทพฯ
ทางด้าน รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เผยว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนที่ที่ปรากฏในแผนที่ เนื่องจากทั่วภาคเหนือมีรอยแตกซ่อนตัวในแผ่นเปลือกโลกอีกมาก โดยรอยแตกดังกล่าวมีความถี่มากใน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นรอยแตกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ส่วนกรณีแผ่นดินไหวที่ อ.พาน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็อาจใช้เวลาอีกนานเพื่อสะสมพลังงานในการเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง
สำหรับกลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง 14 รอยเลื่อนในประเทศไทย ครอบคลุม 22 จังหวัด ตามข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี มีดังนี้ 1. รอยเลื่อนแม่จัน (เชียงราย เชียงใหม่) 2. รอยเลื่อนแม่อิง (เชียงราย) 3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน (แม่ฮ่องสอน ตาก) 4. รอยเลื่อนเมย (ตาก กำแพงเพชร) 5. รอยเลื่อนแม่ทา (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน) 6. รอยเลื่อนเถิน (ลำปาง แพร่) 7. รอยเลื่อนพะเยา (พะเยา ลำปาง เชียงราย) 8. รอยเลื่อนปัว (น่าน) 9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (อุตรดิตถ์) 10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) 11. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี สุพรรณ อุทัยธานี ตาก) 12. รอยเลื่อนระนอง (ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พังงา) 13. คลองมะรุ่ย (สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา) 14. รอยเลื่อนเพรบูรณ์ (เพชรบูรณ์)
สำหรับเหตุแผ่นดินที่ จ.เชียงรายครั้งนี้ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง เผยว่า เป็นความโชคดีที่พื้นที่เกิดเหตุไม่ใช่เมืองที่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีตึกสูงและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ ทั้งนี้ พื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว และมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างกรณีแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่ลาว เมื่อปี 2550 หรือแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ที่พม่าเมื่อปี 2554 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงต่างได้รับผลกระทบ ซึ่งเราควรต้องพิจารณาเรื่องสิ่งก่อสร้างที่รองรับแผ่นดินไหวอย่างจริงจัง