xs
xsm
sm
md
lg

จับตาอีก 5 รอยเลื่อนใกล้เคียงหลังแผ่นดินไหวเชียงราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ
ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงทรัพย์ เผยแผ่นดินไหวเชียงรายครั้งนี้รุนแรงที่สุดในไทย ชี้ต้องจับตาอีก 5 รอยเลื่อนใกล้เคียง โดยเฉพาะรอยเลื่อนแม่จันที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมเตือนเกิดอาฟเตอร์ช็อก 3-4 ริกเตอร์ ไปอีกสัปดาห์ และหน้าฝนอาจเกิดดินถล่ม

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า แผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในไทยขนาดใหญ่ที่สุด นับแต่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์บันทึกมา 60 ปี และคำนวณย้อนหลังต่อไปได้อีก 30-40 ปี

แผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย ครั้งนี้ นายสุวิทย์ กล่าวว่า เป็นผลจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา และไม่ใช่แผ่นดินไหวนอกกลุ่มรอยเลื่อน ซึ่งยืนยันได้เพราะอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาเกิดในแนวรอยเลื่อนดังกล่าว โดยนับแต่เกิดแผ่นดินไหววัดอาฟเตอร์ช็อกได้กว่า 80 ครั้งแล้ว และจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 3-4 ริกเตอร์ต่อไปอีกสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ต้องจับกลุ่มรอยเลื่อน 5 กลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ซึ่งจะได้รับแรงเค้นการสั่นไหวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา โดยที่ต้องจับตาพิเศษคือรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด

สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ นายสุวิทย์ กล่าวว่า เป็นผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแนวระนาบเหลื่อมซ้าย (Left-lateral strike slip fault) ของแนวรอยเลื่อนที่พาดตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้

“แผ่นดินไหวในเมืองไทยจะรุนแรงไม่เกิน 7 ริกเตอร์ เนื่องจากจุดโฟกัสของแหล่งกำเนิดพลังงานที่ขับเคลื่อนให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นอยู่ใน “หิมาลัย” ซึ่งแนวรอยเลื่อนของไทยอยู่ห่างออกมา ขณะที่แนวรอยเลื่อนสะแกงที่พาดผ่านกลางพม่าอยู่ใกล้จุดโฟกัสมากกว่า จึงเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงกว่า” นายสุวิทย์อธิบาย

นอกจากต้องจับตา 5 กลุ่มรอยเลื่อนใกล้เคียงแล้ว นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์ เผยว่า ในช่วงหน้าฝนที่ใกล้เข้ามานี้เป็นห่วงว่า พื้นที่ตามเชิงเขาอาจเกิดดินถล่ม เนื่องจากการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน แต่หลังจากเหตุการณ์นี้แผ่นดินไหวจะทิ้งช่วงไปอีก 10-20 ปี โดยรอยเลื่อนเดียวกันนี้ก็เคยเกิดแผ่นดินไหว 5.2 ริกเตอร์ เมื่อปี 2537

“เมื่อปี 2537 เกิด 5.2 ริกเตอร์ ผ่านมา 20 ปี แรงขึ้นเป็น 6.3 ริกเตอร์ เราก็ต้องรีบทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น และเป็นบทเรียนว่าต้องดูแลอย่างไร และไม่ใช่ดูแลแค่ 5 รอยเลื่อนใกล้เคียง แต่ต้องดูแลรอยเลื่อนทั้งหมดในไทย ต้องปักมุดให้ครอบคลุม เพื่อดูว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้ว รอยเลื่อนเลื่อนไปถึงไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุม 14 รอยเลื่อน” นายวรศาสน์ กล่าว







รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยทางภาคเหนือ (เครดิต: กรมทรัพยากรธรณี)
กำลังโหลดความคิดเห็น