xs
xsm
sm
md
lg

พบแผ่นดินเชียงใหม่ไวต่อแรงสะเทือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการลงพท้นที่เก็บข้อมูลความเร็วคลื่นเฉือนที่ความลึก 30 เมตร ใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่
นักวิชาการเผยคุณสมบัติของแผ่นดิน จ.เชียงใหม่ ไวต่อแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาดปานกลางขึ้นไปที่มีจุดศูนย์กลางกำเนิดอยู่ใกล้ๆ และลักษณะทางธรณีวิทยาของตัวเมืองอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางวิศวกรรม  

จากการศึกษาการกระจายของ “ความเร็วคลื่นเฉือน” ระดับตื้นของดินที่พื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดย ดร.ฐานบ ธิติมากร ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า พื้นที่ดังกล่าวปกคลุมด้วยดินที่มีค่าความเร็วคลื่นต่ำหรือดินชนิด D เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมได้หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในระยะไม่ไกลนัก

ทั้งนี้ ดร.ฐานบ อธิบายว่า ปกติคุณสมบัติการขยายคลื่นแผ่นดินไหวของดินสามารถทำการคาดคะเนได้จาก “ค่าความเร็วของคลื่นเฉือนของดิน” โดยดินที่มีความเร็วคลื่นเฉือนต่ำจะมีค่ากำลังขยายสูงกว่าดินที่ค่าความเร็วคลื่นเฉือนสูง ซึ่งจากการศึกษาแผนที่จะเห็นได้ว่าตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บนดินชนิด D ที่เกิดจากกระบวนการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ และจะมีความอ่อนตัวมากกว่าดินชนิด C ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตะกอนเชิงเขาที่เกิดจากการผุพังและสะสมตัวอยู่กับที่ และกระจายตัวอยู่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่

ทั้งนี้ ดินชนิด D มีค่าความเร็วคลื่นเฉือนค่อนข้างต่ำ โดยทั่วไปแล้วดินที่มีค่าความเร็วคลื่นเฉือนต่ำมักจะตอบสนองต่อแรงแผ่นดินไหวได้ดีกว่าดินที่มีค่าความเร็วคลื่นเฉือนสูง โดยเฉพาะพฤติกรรมการขยายแรงแผ่นดินไหว และอาจรวมถึงการเกิดการไหลของดิน เป็นต้น

“จากบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าได้มีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางเกิดขึ้นหลายครั้งในภาคเหนือของประเทศไทย และจากข้อมูลการศึกษารอยเลื่อนมีพลังในภาคเหนือของประเทศไทยโดย รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ จากจุฬาฯ แสดงให้เห็นว่า รอยเลื่อนมีพลังเหล่านี้มีความสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงใหญ่ได้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่นั้นตั้งอยู่ไม่ห่างจากรอยเลื่อนเหล่านี้มากนัก ทำให้มีโอกาสมากที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว” ข้อมูลจาก ดร.ฐานบ ระบุ

นอกจากนี้ จากสภาพทางธรณีวิทยาของตัวเมืองเชียงใหม่ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงใหญ่ ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างทางวิศวกรรมต่างๆ เช่น อาคาร สะพาน ถนน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เป็นต้น เนื่องจากเชียงใหม่ตั้งอยู่บนชั้นดินตะกอนที่ไม่แข็งตัว โดยดินดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สามารถจะขยายแรงแผ่นดินไหวให้มีความแรงมากขึ้น

ความเร็วของคลื่นเฉือนนี้สามารถทำการวัดได้หลายวิธี ทั้งในภาคสนามและห้องปฏิบัติการซึ่งมักจะใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาวิธีการวัดค่าความเร็วคลื่นเฉือนที่มีราคาถูก และสามารถทำได้รวดเร็ว ซึ่งเรียกว่า “การสำรวจคลื่นพื้นผิวแบบหลายช่องรับสัญญาณ” ทาง ดร.ฐานบ จึงมุ่งทำการศึกษาถึงลักษณะทางธรณีวิทยาและการกระจายตัวของความเร็วคลื่นเฉือน ของดินบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ทราบถึงการกระจายตัวของดินที่สามารถจะมีคุณสมบัติการขยายแรงแผ่นดินไหวได้ เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาและป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวต่อไป
รอยเลื่อนและแผ่นเปลือกต่างๆ ของไทย
แผนที่ ความเร็ววคลื่นเฉือน เฉลี่ยที่ความลึก 30 เมตร ของพื้นที่ศึกษา






กำลังโหลดความคิดเห็น