xs
xsm
sm
md
lg

จากแผ่นดินไหวถึงสึนามิ...เตือนตรงไหนเคยเกิดก็จะเกิดซ้ำอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหตุการณ์ขณะคลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ของประเทศไทยในปี 2547 (แฟ้มภาพ: นิวยอร์ก ไทม์ส)
จากเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงราย นักวิชาการตั้งข้อสังเกตอาจต้องให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางใกล้ผิวดินมากขึ้น เพราะก่อให้เกิดความเสียหายหลายครั้งแล้ว และเตือนไปถึงสึนามิที่เป็นผลจากแผ่นดินไหวว่า บริเวณไหนเคยเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดซ้ำอีก แต่พื้นที่เสี่ยงยังคงไม่มีการเตรียมรับมือ

ระหว่างการแถลงข่าวเรื่อง “แผ่นดินไหว รับมืออย่างไร” ที่จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 57 รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 ที่ผ่านมาว่า ถ้าพิจารณาในแง่ความเสียหาย นับว่าโชคดีที่รอยเลื่อนไม่ได้พาดผ่านกลางเมือง โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในทุ่งนา แต่อาคารที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตร ซึ่งรวมถึง “วัดร่องขุ่น” ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ต่างได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.ปัญญา ตั้งข้อสังเกตว่า เราอาจต้องให้ความสนใจกับแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางใกล้ผิวดินมากขึ้น เพราะแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางตื้นๆ จะส่งแรงกระเพื่อมมาถึงผิวดินและก่อให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในเมืองไทย แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นที่ อ.ถลาง ภูเก็ต, จ.พังงา และ จ.ตาก ทั้งหมดเป็นผลมาจากรอยเลื่อนที่อยู่ในระดับตื้น ขณะที่แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกๆ จะถูก ดิน หิน ซับแรงไปก่อนที่แรงจะขึ้นมาถึงผิวดิน

“รอยเลื่อนเป็นรอยแตกที่มีการเคลื่อนที่ได้ เมื่อมีการเลื่อนเมื่อไรก็จะปล่อยพลังงานส่งมาที่หิน ดิน ทำให้เกิดการสั่นสะเทอน ในช่วง 1 ปีถึงปีครึ่งที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวเกิดจากรอยเลื่อนระดับตื้น 7 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร และ 15 กิโลเมตร ที่ ถลาง (ภูเก็ต) พังงา ตาก ทั้งหมดเป็นรอยเลื่อนระดับตื้นๆ หากแผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์ไปอยู่กลางเมืองก็เดี้ยงแล้ว” รศ.ดร.ปัญญา กล่าว

ทั้งนี้ รศ.ดร.ปัญญา ยังได้ศึกษาสึนามิโบราณในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสึนามิเป็นผลจากแผ่นดินไหวในทะเลที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่ง ซึ่งการศึกษาดังกล่าวเพื่อศึกษาและคาดการณ์ว่าจะเกิดสินามิขึ้นอีกเมื่อไร เนื่องจากพื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิแล้วก็จะเกิดสึนามิซ้ำที่เดิมอีก แต่สำหรับเมืองไทยกลับไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และพบว่าหลายพื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 นั้นยังคงไม่มีการเตรียมรับมือกับสึนามิอีก 

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปัญญา ย้ำว่าเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถทำนายเหตุแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้า แต่สามารถทำนายได้ในเชิงพื้นที่เท่านั้นว่าพื้นที่ใดจะเกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งจากแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยของของกรมทรัพยากรธรณี จะเห็นว่าภาคอีสานปลอดภัยจากแผ่นดินไหวแน่นอน แต่ก็อาจเผชิญกับปัญหาอย่างภัยแล้งแทน

*สำหรับแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 นั้น เป็นแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางใต้ผิวดินลึกลงไป 7.4 กิโลเมตร
ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อ 5 พ.ค.57 อยู่ห่างจากแหล่งชุมชนออกมาประมาณ 300 เมตร

กำลังโหลดความคิดเห็น