xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์ฯ ลุยตรวจรอยแยกดินไหว-หวั่น 4 ตำบลเสี่ยงโคลนถล่มซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพย์ฯ เร่งเดินสำรวจรอยแยกทั่วพื้นที่ หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เบื้องต้นพบโผล่ 4 ตำบลที่มีชุมชนทั้งเบาบาง-หนาแน่น ชี้หากฝนตกหนักเกิน 180 มิลลิเมตรอาจเกิดดินโคลนถล่มซ้ำ ระบุดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนแม่ลาวกลาง 5 รอยเลื่อยย่อยที่อยู่รายรอบทำอาฟเตอร์ช็อกถี่

วันนี้ (9 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ วัดความแรงได้ถึง 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อเย็นวันที่ 5 พ.ค. ทั้งยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเช้าวันนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ 2 ชุด ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่ได้รับผลกระทบแล้ว ชุดแรกมีนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผอ.ส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง ชุดที่สองมีนายสมใจ เย็นสบาย ผอ.ส่วนธรณีภัยพิบัติ

โดยเจ้าหน้าที่ส่วนธรณีภัยพิบัติได้ติดตามรอยแยกของแผ่นดินอันเกิดจากแผ่นดินไหวดังกล่าวตั้งแต่จุดพบรอยแยกที่บ้านใหม่พัฒนา-บ้านห้วยส้าน ม.13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ผ่านถนนสาย อ.แม่ลาว-แม่สรวย ตรงหลักกิโลเมตรที่ 51 ซึ่งได้รับความเสียหายหนัก จากนั้นได้ตามรอยแยกไปเรื่อยๆ เป็นระยะทางร่วม 10-20 กิโลเมตร ซึ่งพบว่ารอยแยกมีทั้งที่ผ่านที่โล่ง และบ้านเรือนชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย

นายสมใจกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตามรอยแยกจากนั้นจะมีการกำหนดจุดต่างๆ ควบคู่กับระบบจีพีเอส (GPS : Global Positioning System) ซึ่งจากการตรวจสอบพบรอยแยกขนาดเล็กที่บริเวณถนนน้ำพุร้อนโป่งปูเฟือง จากนั้นก็มีรอยแยกตามกันเรื่อยมา ทั้งที่เป็นรอยเดียว และแยกเป็นแฉกสองสามรอยเป็นทางยาว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะตามรอยไปจนถึงจุดสิ้นสุด เพื่อจะได้นำข้อมูลมาหารือกับส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กำหนดจุดศูนย์กลางที่แท้จริงต่อไป

ในส่วนของส่วนธรณีภัยพิบัติก็จะหาด้วยว่าได้เกิดรอยแยกขึ้นบนภูเขาด้วยหรือไม่ เพราะจะมีผลในอนาคต เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน และมีน้ำไหลเข้าสู่รอยแยกก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาดินโคลนถล่มได้ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงหรือไม่

นายสมใจกล่าวอีกว่า กรณีนี้เคยเกิดขึ้นที่ จ.กาญจนบุรี มีความแรง 5.9 ริกเตอร์ และมีรอยแยกบนภูเขา แต่ไม่ได้มีบ้านเรือนมาก เมื่อเกิดดินโคลนถล่มจึงไม่มีความเสียหายมาก แต่กรณีของเชียงรายมีบ้านเรือนทั้งเบาบาง และหนาแน่นบนรอยแยก รวมอยู่ 4 ตำบล คือ ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย, ต.ดงมะดะ และ ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว รวมทั้งยังเชื่อมโยงไปถึง ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งหากมีฝนตกหนักในปริมาณ 180 มิลลิเมตรขึ้นไปก็เสี่ยงที่จะเกิดดินโคลนถล่ม และกระทบพื้นที่เหล่านี้

“การสำรวจจึงจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการเตรียมรองรับภัยเอาไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งจะมีการนำข้อมูลไปหารือกับส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง และคาดว่าจะสรุปผลได้ใน 7 วัน”

นายสมใจกล่าวด้วยว่า รอยเลื่อนที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้คือรอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาที่ไม่เคยเกิดการสั่นไหวมาก่อน ส่วนรอยเลื่อนพะเยาเคยเกิดการสั่นไหวเมื่อปี 2537 ความแรง 5.2 ริกเตอร์ จนทำให้โรงพยาบาล อ.พาน ได้รับความเสียหาย ผ่านมาร่วม 20 ปี รอยเลื่อยย่อยคือรอยเลื่อนแม่ลาว ก็มาสั่นไหวอีก

ซึ่งรอยเลื่อนแม่ลาวถือว่าอยู่ตรงกลางรอยเลื่อนอื่นๆ ในกลุ่มพอดี โดยยังมีรอยเลื่อนอื่นอีก 5 รอยอยู่รายรอบ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาค่อนข้างมาก

“ส่วนในอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่กรณีรอยเลื่อนแม่ลาวได้ปลดปล่อยพลังแล้ว น่าจะหยุดไป” นายสมใจกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น