xs
xsm
sm
md
lg

นศ.มทร.ล้านนาลำปางเจ๋ง ผลิต “เสื้อเกราะใยสับปะรด” สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - นักศึกษา มทร.ล้านนา ลำปาง ผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนจากใยสับปะรดให้ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ รองผู้บัญชาการ ศพร.ภาค 5 อดีตนักแม่นปืนทีมชาติ ทดสอบครั้งแรกให้ 9.5 คะแนนเต็ม 10

ดร.สัณชัย พันธโชติ อาจารย์สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีเกษตรลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 57 ตน พร้อมด้วย ดร.อภินันท์ จิตรเจริญ อาจารย์สาขาเครื่องกล สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และทีมงานนักศึกษา

ประกอบด้วย นายธนพล ศิริโภคานันท์, นายผุดผาด คำวรรณ, นายศิวพล ราชจริต, นายยุทธการ ยศปินตา, นายอนาวิล ปันยวง และนายณัฐวุฒิ เขื่อนคำ ซึ่งได้จัดทำโครงการและโครงร่างปริญญานิพนธ์ สร้างเสื้อเกราะกันกระสุนระดับ 2A ได้ตามมาตรฐานของ NIJ standard-0101.04 โดยใช้วัสดุคอมโพสิตผสมเส้นใยใบสับปะรดเป็นแผ่นซับแรงกระแทกขึ้นเป็นผลสำเร็จ มีนายเอกรัฐ ใจบุญ อาจารย์สาขาอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

ดร.สัณชัยระบุว่า โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 53 แต่เนื่องจากเกิดความไม่พร้อมหลายด้าน กอปรกับทีมสถานีตำรวจได้สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งโยกย้ายตามวาระ จึงไม่สามารถสานต่อได้สำเร็จ กระทั่งปีนี้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอีกครั้ง

มทร.ล้านนา ลำปาง จึงได้มีการผลักดันโครงการเสื้อเกราะกันกระสุน โดยใช้ใยใบสับปะรดเป็นแผ่นซับแรงกระแทกขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากสถานีตำรวจภูธร ภาค 5 หลังมหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ทะ

ด้านนายเอกรัฐ ใจบุญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า แนวความคิดในการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนดังกล่าวเกิดจากการรับทราบปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ทะ จากนั้นจึงลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุ วิเคราะห์ข้อมูลและปัญหา เริ่มปฏิบัติงานโดยการออกแบบ และสร้างเสื้อเกราะกันกระสุน ปรับปรุงแก้ไข ประเมินผลการทดสอบ สรุปผลและรายงานผล

ในการทดสอบครั้งแรก พ.ต.อ.บัญชา เศรษฐกร รองผู้บัญชาการ ศพร.ภาค 5 อดีตนักแม่นปืนทีมชาติ ได้มาทำการทดสอบด้วยตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่าจากคะแนนเต็ม 10 ให้คะแนน 9.5 ดังนั้นอีก 0.5 คะแนนที่ยังขาดอยู่นั้น ทางทีมงานก็จะปรับปรุงเพื่อให้ได้เสื้อเกราะป้องกันกระสุนที่ดี มีคุณภาพ ประหยัด ใช้งานได้จริง เกิดความปลอดภัยในชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามที่เสี่ยงต่ออันตรายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น