xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าทำเขื่อนป้องกันคลีื่นกัดเซาะชายหาดที่กะเปอร์ จ.ระนอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - กรมเจ้าท่าฯ รับฟังความเห็นสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายหาดที่บ้านอ่าวเคย อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ที่ถูกกัดเซาะขั้นรุนแรง ที่ดินทำกินของชาวบ้านหายไปหลายสิบไร่

นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านอ่าวเคย ม.4 ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง พร้อมเดินทางไปสำรวจบริเวณจุดที่เกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

นางจิราภรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า บริเวณบ้านอ่าวเคยซึ่งประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมาตั้งแต่ปี 2547 หลังเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน พบว่า ปัญหาอยู่ในระดับรุนแรง การกัดเซาะที่เกิดขึ้นทำให้พื้นดินซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และบ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำทะเลกัดเซาะจมหายไปแล้วกว่า 20 ไร่ ทางกรมเจ้าท่า จึงกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยล่าสุด ทางกรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้างศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ขณะนี้อยู่ในระหว่างประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ส่วนรูปแบบการดำเนินการคาดว่าอาจจะต้องสร้างเป็นแนวเขื่อนแบบผสมผสานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้านน้อยที่สุด

ด้าน ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จังหวัดระนอง ได้รับแจ้งจากกรมเจ้าท่าถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณบ้านอ่าวเคย ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ที่พบว่า การกัดเซาะอยู่ในระดับรุนแรง กินลึกเข้ามายังบริเวณอ่าว หาดทราย ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านชมหายไปในทะเลแล้วหลายสิบไร่ ล่าสุด ทางกรมเจ้าท่า ได้มอบหมายให้ศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบ้านอ่าวเคย ม.4 ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ซึ่งพบว่า การดำเนินการมีความคืบหน้า และจัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็น เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้เป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งประชุมในวันที่ 7 ก.พ. 2557 ที่โรงเรียนบ้านสำนัก ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์

ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการสำรวจออกแบบโครงสร้างการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบ้านอ่าวเคย มีแนวทางที่น่าสนใจ และเป็นไปได้คือ การสร้างแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะในทะเลบริเวณหน้าปากอ่าว ระยะทาง 4 กม. เพื่อเป็นแนวเขื่อนกันทรายและคลื่น ทั้งยังเป็นเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยรูปแบบของเขื่อนที่จะก่อสร้างกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสม และสอดคล้องกับงบประมาณ



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น