xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่ายันมีแผนเผชิญเหตุเรือล่มตามมาตรฐานสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรศักดิ์  แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)
กรมเจ้าท่ายกกรณีศึกษาเรือเฟอร์รีล่มที่เกาหลีใต้ เผยแผนเผชิญเหตุมีความพร้อมตามมาตรฐานสากล ทั้งกรณีเดินทางปกติ และช่วงเทศกาล มั่นใจช่วยในการป้องกันความเสียหาย หรือความสูญเสียของชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือจากอุบัติภัยทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการเผชิญเหตุ และภาวะวิกฤตด้านความปลอดภัย กรณีศึกษาเรือเฟอร์รีล่มที่เกาหลีใต้ว่า กรมเจ้าท่ามีแนวทางการปฏิบัติ 2 ประการ คือ 1. การเฝ้าระวังป้องกันเหตุ ซึ่งได้วางมาตรการความปลอดภัยในเหตุการณ์ปกติและช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งในส่วนโครงการท่าเรือปลอดภัย เรือปลอดภัย คนปลอดภัย มีการติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตลอดลำน้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ, ระบบควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล (VTMIS) จัดระเบียบการจราจรทางน้ำในเขตท่าเรือต่างๆ, ศูนย์ความปลอดภัยทางน้ำ สายด่วน 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือโดยสาร คอยสอดส่อง กำกับดูแลเพื่อระวังภัยและป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้โดยสารทางน้ำ
                   
2. กรณีเกิดเหตุ กรมเจ้าท่าได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล (International Convention on Maritime Search and Rescue) โดยทำหน้าที่แปลอนุสัญญาฯ พิจารณาพันธกรณีและแนวทางการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ, การเข้าร่วมฝึกซ้อม SAREX เป็นประจำทุกปี และเป็นเจ้าภาพในการจัดทำแผนการฝึกซ้อมทดสอบระบบสื่อสาร การฝึก Table-Top Exercise การฝึก Field Exercise การสาธิตต่างๆ การฝึกอบรม และการประชาสัมพันธ์, การพัฒนาเรือตรวจการณ์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบังคับใช้กฎหมายของกรมเจ้าท่าให้มีศักยภาพการปฏิบัติงานด้านการค้นหาและช่วยเหลือ ทั้งด้านอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์การเดินเรือและแผนที่ ปัจจุบันกรมเจ้าท่ามีเรือตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 7 ลำ ประจำฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน, การพัฒนาระบบตรวจการณ์ชายฝั่งเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของเรือในทะเลระยะ 20-25 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือ ความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม                                                                                                        
 
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศที่มีผลประโยชน์สำคัญในด้านการค้าทางทะเล ได้ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการขนส่งทางเรือ โดยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตทางทะเล หรืออนุสัญญา SOLAS เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2527 และได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการเดินเรือทะเล เช่น พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรืออีกหลายฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาฉบับนี้ ทำให้มาตรฐานเรือทะเลของประเทศไทยอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันความเสียหาย หรือความสูญเสียของชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือจากอุบัติภัยทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น