รอยเตอร์/เอเอฟพี – จากการตรวจสอบภูมิหลังทุกๆ คนบนเครื่องบินที่หายไปของมาเลเซียแอร์ไลน์ส ไม่พบผู้มีแรงจูงใจทางการเมืองหรืออาชญากรรมที่จะทำการจี้เครื่องบินหรือทำเครื่องบินตกแต่อย่างใด แหล่งข่าวด้านความมั่นคงตะวันตกและทางการผู้รับผิดชอบของจีนลงความเห็นในวันอังคาร (18 มี.ค.)
เวลานี้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนกำลังมีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีผู้อยู่บนเครื่องบินซึ่งต้องมีความรู้เป็นอย่างดีทั้งเรื่องกี่ยวกับโบอิ้ง 777-200ER และเรื่องการบินพาณิชย์ เป็นผู้ที่ควบคุมเที่ยวบิน MH370 ที่มีผู้โดยสาร 227 คน ส่วนใหญ่เป็นคนจีน และลูกเรืออีก 12 คน ให้บินออกนอกเส้นทางปกติและจากนั้นบินต่อไปอีกหลายพันกิโลเมตรเมื่อวันเสาร์ที่ 8 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หวง ฮุ่ยคัง เอกอัครราชทูตจีนประจำมาเลเซียระบุในวันอังคาร (18) ว่า ปักกิ่งได้ตรวจสอบประวัติผู้โดยสารสัญชาติจีนบนเครื่องอย่างละเอียด และไม่พบความเกี่ยวข้องกับการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ MH370 แต่อย่างใด
เช่นเดียวกัน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอเมริกาและยุโรปก็เผยว่า การตรวจสอบภูมิหลังของทุกคนบนเครื่อง ไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักรบหัวรุนแรงหรือสิ่งอื่นใดที่สามารถอธิบายการหายไปของเครื่องบินได้
โฟกัสที่นักบินของ MH370
แหล่งข่าวรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับการสอบสวนของอเมริกาเผยว่า สาเหตุที่ฝ่ายสหรัฐฯกำลังสนใจตรวจสอบนักบินทั้ง 2 ของเครื่องบินลำนี้ เนื่องจากการปิดระบบติดต่อสื่อสารของเครื่องบินนั้นต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค
ขณะที่เมื่อวันจันทร์ (17) เจ้าหน้าที่แดนเสือเหลืองหลายรายระบุว่า เรื่องนักบินหรือผู้ช่วยนักบินอาจจะฆ่าตัวตาย ถือเป็นหนึ่งในประเด็นการสอบสวนด้วย ถึงแม้ไม่ได้ถือว่ามันเป็นความเป็นไปได้เพียงประการเดียวก็ตามที
ทั้งนี้ เที่ยวบิน MH370 หายไปจากจอเรดาร์ของศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ ตรงบริเวณนอกชายฝั่งมาเลเซียต่อเนื่องกับเวียดนาม หลังขึ้นจากสนามบินกัวลาลัมเปอร์เพื่อมุ่งหน้าสู่ปักกิ่งไม่ถึงชั่วโมง
เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนปะติดปะต่อข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมและเรดาร์ทางทหาร จนทำให้เชื่อว่า มีคนจงใจปิดระบบส่งสัญญาณอัตโนมัติของเครื่องบิน 2 ระบบ ได้แก่ อุปกรณ์ระบุตำแหน่งเครื่องบิน และระบบ ACARS ที่ส่งข้อมูลสภาพเครื่องบินไปยังภาคพื้นดิน จากนั้นเครื่องบินจึงหันหัวกลับไปทางตะวันตกข้ามคาบสมุทรมาเลเซีย (แหลมมลายู) และบินตามเส้นทางการบินพาณิชย์ไปทางอินเดีย
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่มีใครสามารถระบุได้ โดยที่เรดาร์ทางทหารของมาเลเซียจับสัญญาณของเครื่องบินลำนี้ได้ครั้งสุดท้าย ในบริเวณห่างจากเกาะปีนังทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 200 ไมล์ ต่อจากนั้นก็มีเพียงดาวเทียมที่รับสัญญาณจาก MH 370 ได้ จึงทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เครื่องบินอาจบินต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ชั่วโมงหลังหายไปจากเรดาร์ทางทหาร
อย่างไรก็ตาม สัญญาณดาวเทียมนี้ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนของเครื่องบินได้ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนทำได้แค่ตั้งสมมติฐานเส้นทางบินของ MH370 เป็น 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรกซึ่งขึ้นเหนือนั้นครอบคลุมจากภาคเหนือของไทยวจนถึงทะเลแคสเปียน ส่วนเส้นทางที่ 2 นั้นลงใต้ จากภาคตะวันตกของอินโดนีเซียลงไปทางมหาสมุทรอินเดียจนจรดออสเตรเลีย
ตำรวจมาเลเซียได้ค้นบ้านของซอฮารี อาหมัด ชาห์ วัย 53 ปี นักบินที่ 1 ของ MH370 และฟาริก อับดุล ฮามิด วัย 27 ปี ผู้ช่วยนักบิน ซึ่งล้วนอยู่ในย่านชนชั้นกลางของกัวลาลัมเปอร์ใกล้กับสนามบินนานาชาติ
ในบรรดาสิ่งที่นำกลับไปตรวจสอบคือ เครื่องฝึกบินจำลองที่ซอฮารีติดตั้งไว้ที่บ้าน ซึ่งนายตำรวจอาวุโสที่ทราบข้อมูลโดยตรงของการสืบสวนนี้เผยว่า โปรแกรมในระบบฝึกบินจำลองของซอฮารีมีรันเวย์ของหลายประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดีย อาทิ มัลดีฟส์, ศรีลังกา, ดิเอโก การ์เซีย และทางใต้ของอินเดีย แต่ก็มีรันเวย์ของอีกหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ประเด็นที่ต้องตรวจสอบต่อไปคือ ค้นหาว่า ซอฮารีย์ฝึกรันเวย์ใดเป็นพิเศษหรือเปล่า และเคยได้รับมอบหมายให้บินในเส้นทางใดบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะนี้จึงยังไม่ควรกล่าวหาใครลอยๆ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อเมริกันบางคนแสดงความไม่พอใจแนวทางการจัดการการสอบสวนของมาเลเซีย และบอกว่า จนถึงวันจันทร์ รัฐบาลมาเลเซียยังไม่ได้ขอให้สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีเอ) ส่งทีมไปยังกัวลาลัมเปอร์แต่อย่างใด
ด้านจีนก็ได้แสดงความไม่พอใจความพยายามของแดนเสือเหลืองมาแล้วหลายครั้ง
ทว่า ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมและรักษาการรัฐมนตรีคมนาคมของมาเลเซีย เผยว่า กัวลาลัมเปอร์ร่วมมือเป็นอย่างดีกับเอฟบีไอ กระนั้น มาเลเซียคงไม่สามารถรู้ได้ว่า เอฟบีไอต้องการผู้เชี่ยวชาญเพิ่มหรือไม่และเมื่อใด ดังนั้น จึงต้องรอให้เอฟบีไอแจ้งมาเอง
อิชามมุดดิน เสริมว่า ได้หารือกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และจีนแล้ว เกี่ยวกับปฏิบัติการค้นหา MH370 ที่ล่วงเข้าวันที่ 11 และเป็นปฏิบัติการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากเป็นความร่วมมือระหว่าง 26 ประเทศครอบคลุมเอเชียจากทะเลแคสเปียนจนถึงทางใต้สุดของมหาสมุทรอินเดีย
ในวันอังคาร หง เหล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนได้เริ่มค้นหาเครื่องบินที่หายภายในอาณาเขตประเทศตนเอง ซึ่งถือว่าอยู่ภายในเส้นทางการค้นหาด้านเหนือ โดยระดมทั้งดาวเทียมและเรดาร์เข้ามาช่วย ทั้งนี้เป็นไปตามคำขอของฝ่ายมาเลเซีย
ส่วนทางออสเตรเลียซึ่งรับผิดชอบการค้นหาทางด้านใต้เผยว่า ได้ทำการค้นหาไปแล้ว 2 รอบ และจะค้นหาอีกรอบในวันอังคาร
ขณะเดียวกัน กองทัพเรืออเมริกากำลังส่งเครื่องบินสอด P-8A โพไซดอน ซึ่งเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลไฮเทค ไปยังเมืองเพิร์ธ ทางตะวันตกของออสเตรเลีย เพื่อร่วมปฏิบัติการค้นหา