xs
xsm
sm
md
lg

“มาเลเซีย” เผยประเทศร่วมค้นหา “เครื่องบินหาย” เพิ่มเป็น 25 ด้าน “ตำรวจ” มุ่งตรวจสอบ 2 นักบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันเสาร์ (15) แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่บนเครื่องบิน ซีเอ็น 235 ของกองทัพอากาศมาเลเซีย กำลังปฏิบัติงานระหว่างการค้นหาและกู้ภัย เพื่อหาเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ที่สูญหายไป ณ บริเวณช่องแคบมะละกา
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัฐบาลมาเลเซียแถลงในวันนี้ (16 มี.ค.) ว่า จำนวนประเทศซึ่งกำลังเข้าร่วมการค้นหาเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไป ได้เพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัวเป็น 25 ชาติแล้ว ในขณะเดียวกับที่ตำรวจแดนเสือเหลืองเปิดการสืบสวนอย่างเต็มขั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยถือเป็นคดีอาญา ทั้งนี้มีการมุ่งตรวจสอบนักบินทั้ง 2 ของเครื่องบินลำนี้เป็นพิเศษ

รัฐมนตรีคมนาคม ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน ของมาเลเซีย บอกว่า จำนวนชาติผู้เข้าร่วมได้กระโดดจาก 14 เป็น 25 ประเทศแล้ว ในขณะที่การค้นหาเครื่องบินลำนี้มุ่งเน้นหนักอยู่ที่ 2 เส้นทาง นั่นคือ เส้นทางทางเหนือ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เขตทางเหนือของประเทศไทยไปจนถึงคาซัคสถาน และเส้นทางทางใต้ จากอินโดนีเซียไปจนถึงตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย

เขาบอกว่า ความร่วมมือที่ถือเป็น “การสร้างมาตรฐานใหม่” ขึ้นมาคราวนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องก่อให้เกิด “ความท้าทายใหม่ๆ ของการร่วมมือประสานงานกันและความท้าทายใหม่ๆ ทางด้านการทูต”

มีรายงานด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียได้จัดการบรรยายสรุปแก่พวกผู้แทนจาก 22 ประเทศในวันอาทิตย์ ในจำนวนนี้รวมทั้งรัฐทางเอเชียกลางหลายราย อย่างเช่น คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, คีร์กีซสถาน และเติร์กเมนิสถาน รวมทั้งได้ขอร้องประเทศเหล่านี้ให้ความสนับสนุนในรูปของข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลเรดาร์

ในเวลาเดียวกัน ตำรวจมาเลเซียแถลงยืนยันว่า พวกเขาได้เข้าค้นบ้านของ ซาฮารี อาหมัด ชาห์ วัย 53 ปี ผู้เป็นนักบินที่ 1 และ ฟาริก อับดุล ฮามิด วัย 27 ปี ผู้ช่วยนักบินของเที่ยวบิน MH370 ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ (15 มี.ค.) ตามที่สื่อต่างๆ รายงานข่าว โดยที่ได้ทำการตรวจสอบเครื่องจำลองการขับเครื่องบินโดยสารซึ่งพบติดตั้งอยู่ที่บ้านพักของนักบินที่ 1 หลังจากเป็นที่กระจ่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า โบอิ้ง 777 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ซึ่งหายไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มี.ค.ลำนี้ ถูกใครบางคนบนเครื่องบินจงใจทำให้เปลี่ยนเส้นทางบินรวมทั้งตัดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก

เครื่องจำลองการขับเครื่องบินนี้ ข่าวระบุว่า ซาฮารีซึ่งเป็นผู้ที่สนอกสนใจเรื่องเทคโนโลยี เป็นผู้ประกอบขึ้นมาด้วยตนเอง และผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาตรวจสอบ ถึงแม้พวกที่อยู่ในแวดวงการบินจะบอกว่า นักบินอีกหลายคนก็มีเครื่องจำลองเช่นนี้อยู่ที่บ้านของพวกตน

เช่นเดียวกัน ฮิชัมมุดดีนกล่าวเตือนว่า ยังไม่ควรที่จะ “ด่วนสรุป” ว่าการสืบสวนสอบสวนนี้จะออกไปทางไหน

ขณะที่ คอลิด อบู บาคาร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็กล่าวย้ำว่า การสืบสวนสอบสวนนี้มุ่งครอบคลุมผู้โดยสารและลูกเรือ “ทั้งหมด” ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 239 คน ทั้งนี้ ตำรวจมาเลเซียกำลังขอความร่วมมือจากประเทศซึ่งมีพลเมืองอยู่บนเครื่องบินที่หายไปนี้ ขอให้แจ้งเบาะแสที่อาจเกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น คอลิดกล่าวว่า พวกทีมวิศวกรที่อาจติดต่อสัมผัสกับเที่ยวบิน MH370 ก่อนที่จะทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 8 มีนาคม ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะถูกสืบสวนตรวจสอบด้วย โดยถือเป็น “กรรมวิธีตามปกติ” เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นมา
ผู้คนที่ผ่านไปมา ช่วยกันเขียนข้อความบนแผ่นกระดาษอุทิศแด่ผู้โดยสารของเที่ยวบิน MH370 ที่ยังคงสูญหายไม่ทราบชะตากรรม ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศกัวลาลัมเปอร์ ในเขตเซปัง นอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันนี้ (16 มี.ค.)
การดำเนินการเช่นนี้ของตำรวจมีขึ้นหลังจากที่ในวันเสาร์ (15) มีการเปิดเผยข้อมูลอันน่าตื่นตะลึงซึ่งได้รับจากดาวเทียมและเรดาร์ของฝ่ายทหาร ว่า ระบบติดต่อสื่อสารของเครื่องบินถูกปิดด้วยมือ ก่อนที่เครื่องจะหันหัวไปทางทิศตะวันตก และบินต่อไปอีกหลายชั่วโมง

พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษจึงจะสามารถปิดระบบติดต่อสื่อสารของเครื่องบินได้ จึงทำให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษในการติดตามตรวจสอบนักบินที่ 1 และผู้ช่วยนักบิน ของเที่ยวบินนี้

ฮิชามมุดดิน รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย ชี้ว่า นักบินทั้ง 2 คนนี้ “ไม่ได้ร้องขอบินด้วยกัน” ในเที่ยวบินที่สูญหายไปนี้

ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้โดยสารบนเที่ยวบินจากกัวลาลัมเปอร์สู่ปักกิ่งลำนี้ จำนวนถึงสองในสามเป็นคนจีน ก็ทำให้เกิดเสียงคาดเดากันว่า อาจจะมีพวกหัวรุนแรงในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ของจีนเข้ามาพัวพันเกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ดี พวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเตือนว่า ในขณะที่ยังมีข้อมูลซึ่งขาดหายไปเยอะแยะเช่นนี้ ไม่ควรที่จะคาดเดาให้มากจนเกินไป

“จริงๆ แล้วเรายังคงขาดข้อมูลอีกเยอะเลยที่จะช่วยให้ไปต่อได้” แอนโธนี บริคเฮาส์ สมาชิกคนหนึ่งของสมาคมผู้สอบสวนความปลอดภัยทางอากาศระหว่างประเทศ กล่าวให้ความเห็น

“เรายังไม่ได้มีเศษซากเครื่องบินอะไรสักชิ้นเลย เรายังไม่ได้มีเครื่องบินลำนี้ให้เห็นกันอีกครั้งเลย เรายังไม่มีข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อีกเยอะแยะจากเครื่องบินลำนี้”

สัญญาณสุดท้ายของการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมจากเครื่องบินลำนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม มีขึ้นหลังจากที่มันทะยานขึ้นจากกัวลาลัมเปอร์ร่วมๆ 8 ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นระยะเวลาพอๆ กับที่ทางสายการบินระบุว่า มันจะบินอยู่ได้ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่

ฮิชามมุดดินกล่าวว่า เส้นทางในการค้นหาใหม่ทั้ง 2 เส้นทาง จะได้รับ “ความสำคัญเท่าเทียมกัน” แต่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งลงความเห็นว่า เส้นทางทางใต้ซึ่งลงสู่พื้นที่มหาสมุทร มีโอกาสที่จะเป็นไปได้สูงกว่าเส้นทางทางเหนือ ซึ่งต้องบินผ่านน่านฟ้าของประเทศจำนวนมากในภูมิภาคอย่างเอเชียกลางที่มีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์

ทางด้าน สกอตต์ แฮมิลตัน กรรมการผู้จัดการของ ลีห์แมน คอมพานี บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินและอวกาศ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ถ้าหากเครื่องบินมุ่งสู่มหาสมุทร และตกลงไปในน้ำ ก็จะสร้างความยากลำบากในการค้นหาและกู้ขึ้นมา

“เศษซากใดๆ ก็ตามที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร จะถูกกระแสน้ำพัดพาให้กระจัดกระจายออกไปเป็นวงกว้างขวาง ส่วนเศษซากหลักๆ ก็จมลึกอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร” เขาชี้
กำลังโหลดความคิดเห็น