เอพี/เอเจนซีส์ - สำหรับกว่า 20 ประเทศที่เข้าร่วมการปฏิบัติการค้นพบเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียที่หายไป ถ้าหากสามารถค้นพบโบอิ้ง 777 ลำนี้ย่อมถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ดี ยิ่งสำหรับจีนกับสหรัฐฯด้วยแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสซึ่งสองมหาอำนาจที่ชิงดีชิงเด่นกันในย่านแปซิฟิก จะได้แสดงศักยภาพในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมภายในภูมิภาคที่มีความขัดแย้งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยครั้งนี้ มีนัยหลายอย่างต่อปักกิ่งที่กำลังปรับปรุงแสนยานุภาพทางทหารอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการท้าทายอย่างแข็งกร้าวต่อเหล่าเพื่อนบ้านที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกัน ขณะเดียวกันวอชิงตันก็ต้องการพิสูจน์ว่า ตนยังคงเป็นพี่ใหญ่สำหรับชาติพันธมิตรทั้งหมดที่กังวลกับการคุกคามของจีนต่อสถานะเดิมในเอเชีย-แปซิฟิก
แม้จนกระทั่งถึงเวลานี้ การปฏิบัติการยังคว้าน้ำเหลว แต่ทั้งสองประเทศต่างทุ่มเทเต็มที่และไม่ย่อท้อ
จีนนั้นถือว่ามีเดิมพันสูงสุดและกระโดดขึ้นเวทีรับบทบาทนำหน้าอย่างไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก กล่าวคือแทบจะทันทีหลังจากที่เที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์หายไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ปักกิ่งได้ส่งกองเรือกู้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ไปยังพื้นที่ค้นหาเบื้องต้นในทะเลจีนใต้
กองเรือจีนประกอบด้วยเรือรบ 4 ลำและเรือตรวจการณ์ของหน่วยยามฝั่งตลอดจนหน่วยงานพลเรือนอีก 5 ลำ พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินสอดแนมแบบปีกตรึง โดยในบรรดาเรือรบเหล่านั้น 2 ลำเป็นเรือสะเทินน้ำสะเทินบกที่ใหญ่ที่สุดและไฮเทคที่สุดของแดนมังกร ซึ่งมาพร้อมเฮลิคอปเตอร์และเรือเล็กจำนวนหนึ่งที่รวมถึงเรือโฮเวอร์คราฟต์ 4 ลำ
หนี่ เล่อเซียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายในเซี่ยงไฮ้ชี้ว่า ด้านหนึ่งนั้นจีนเพียงทำหน้าที่ของตนร่วมกับประเทศอื่น แต่อีกด้านหนึ่ง ภารกิจนี้เป็นโอกาสในการประเมินความมุ่งมั่น ประสิทธิภาพ และความสามารถของกองทัพเรือจีนในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ที่ห่างไกลจากบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอเมริกา
ด้านสหรัฐฯที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจบรรเทาทุกข์ครั้งใหญ่กรณีมหาไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ ซึ่งจีนแทบไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลยนั้น ก็สนองตอบรับมือเหตุการณ์ล่าสุดนี้อย่างรวดเร็วเช่นเดิม โดยภายในไม่กี่วัน กองทัพเรือแดนอินทรีส่งเรือพิฆาตสองลำเข้าสู่ทะเลจีนใต้
เนื่องจาก MH370 มีปลายทางที่ปักกิ่ง และผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นคนจีน ชาวแดนมังกรจึงคาดหวังว่ารัฐบาลและกองทัพจะทุ่มเททรัพยากรหมดหน้าตัก และความที่ในปัจจุบันมีคนจีนเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาจึงหวังพึ่งรัฐบาลมากขึ้นในการให้ความช่วยเหลือและปกป้องขณะที่อยู่ในต่างแดน และเหตุการณ์นี้คือบทพิสูจน์ว่า ปักกิ่งสามารถรับบทบาทดังกล่าวได้
**เกียรติภูมิของประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญ**
แม้อเมริกายังคงเป็นมหาอำนาจในแปซิฟิก แต่จีนกำลังช่วงชิงบทบาทนั้นในระดับลึก ถึงแม้ยอดงบประมาณทางทหารในแต่ละปีของแดนมังกรเวลานี้ยังคงห่างไกลหลายเท่าตัวจากของแดนอินทรี แต่ปักกิ่งก็เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมขึ้นอย่างมากตลอดสองทศวรรษ และปีล่าสุดอยู่ในระดับ 131,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับกองทัพสำหรับทั้งปฏิบัติการทางทหารและมนุษยธรรม
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของจีน คือการขาดประสบการณ์ เนื่องจากไม่ได้ทำศึกใหญ่เลยนับจากสิ้นสุดสงครามเกาหลีในปี 1953 ผู้นำปักกิ่งจึงพยายามชดเชยด้วยสถานการณ์จำลองการฝึกที่สมจริงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการร่วมค้นหาทางทะเลและการฝึกกู้ภัยกับประเทศอื่น
เอเวอรี โกลสไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของจีนจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า ทั่วโลกต่างยอมรับว่า อเมริกามีศักยภาพในการค้นหาและกู้ภัยที่ไม่มีใครเทียบ ขณะที่ความสามารถของจีนในส่วนนี้แม้ได้รับการปรับปรุงแต่ยังอยู่คนละชั้นกับอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการในพื้นที่ที่ห่างไกลจากประเทศ
ปฏิบัติการค้นหา MH370 ล่าสุดครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลจากมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ขึ้นไปจนถึงคาซัคสถาน โดยเฉพาะในมหาสมุทรอินเดียนั้น เป็นอาณาบริเวณที่ทั้งจีนและอเมริกาไม่เคยมุ่งเน้นมาก่อน ทำให้ทั้งสองประเทศต้องทบทวนยุทธศาสตร์
กองทัพเรืออเมริกันตัดสินใจว่า เครื่องบินที่มีพิสัยทำการไกลเหมาะสมมากกว่าสำหรับการค้นหาในพื้นที่กว้างขวางเช่นนี้ จึงส่งเรือพิฆาตสองลำกลับสู่ปฏิบัติภารกิจปกติ แล้วหันมาเน้นหนักส่งเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-3 และ P-8 ร่วมค้นหา โดยเฉพาะ P-8 โพไซดอนนั้น ถือเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ต่อต้านเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำที่ไฮเทคที่สุดของโลก สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ 38,850 ตารางกิโลเมตรในการบิน 9 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน จีนส่งเรือส่วนใหญ่ในปฏิบัติการค้นหาไปยังสิงคโปร์ ก่อนแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเดินทางขึ้นเหนือและอีกกลุ่มลงใต้ เพื่อค้นหาสองพื้นที่กว้างใหญ่คือนอกชายฝั่งสุมาตราและใกล้ทะเลอันดามัน ครอบคลุมอาณาบริเวณทั้งหมด 300,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 3 เท่าของบริเวณที่จีนค้นหาในทะเลจีนใต้ก่อนหน้านี้
แต่ปัญหาใหญ่ของจีนคือ การขัดแย้งด้านพรมแดนกับเพื่อนบ้านจำนวนมาก ซึ่งหลายประเทศเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาด้วย ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียซึ่งกังวลกับความพยายามของจีนในการเข้าควบคุมเส้นทางเดินเรือในแปซิฟิกเพิ่มมากขึ้นอีก
หลี่ หมิงเจียง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ ชี้ว่า จีนเข้มแข็งด้านฮาร์ดแวร์ แต่ขาดประสบการณ์และความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่ดีกับเพื่อนบ้าน ขณะที่กองทัพเรืออเมริกันมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีกว่า จึงมีโอกาสมากกว่าในการรับบทบาทนำในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย
นอกจากนี้ การที่จีนวิจารณ์โจมตีความเป็นผู้นำของมาเลเซียในการค้นหา MH370 ย่อมไม่ช่วยให้ตนเองเป็นที่นิยมชื่นชอบเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า นี่เป็นความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปจากข้อบกพร่องของตนเอง ขณะเดียวกันการที่ปักกิ่งกับกัวลาลัมเปอร์มีความสัมพันธ์ทางทหารที่ไม่ดีนัก ก็อาจทำให้ประเด็นนี้ยิ่งเลวร้ายลง
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น พันธมิตรเหนียวแน่นที่สุดของอเมริกาในเอเชียที่กำลังพิพาทเรื่องดินแดนกับจีน ก็กำลังจับตาการสนองตอบในครั้งนี้ของจีนอย่างใกล้ชิด กระนั้น เกียวอุจิ ยานากิซาวะ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นชี้ว่า แม้ยังคงไม่ไว้ใจ แต่ญี่ปุ่นหวังว่า การร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ภายใต้เป้าหมายเดียวกันอาจทำให้จีนเรียนรู้ที่จะร่วมมือกับเพื่อนบ้านฉันมิตรมากขึ้น และเป็นโอกาสในการปลูกฝังความไว้วางใจแทนความขัดแย้ง