xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ร่วมวงเสวนาการบินไทยฝ่าวิกฤต ไม่แปรรูปเร่งแผนแก้ปัญหา ยันปี 57 ไม่ขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
“ประจิน” ยันไม่แปรรูปการบินไทย เร่งแผนแก้ปัญหาองค์กรเสร็จใน 6 เดือน พาสายการบินแห่งชาติผงาดขึ้นที่หนึ่งในอาเซียน ยอมรับ2 ไตรมาสปี 57 ขาดทุนต่อเนื่อง ลุ้นครึ่งปีหลังเชื่อมไม่ขาดทุน ส่วนปี 58 เร่งแก้ปัญหาขาดทุนค่าเงิน เล็งกำไร 4,500 ล้าน “บรรยง” อดีตบอร์ดชี้ต้องอุดรั่่วไหลจัดซื้อ การเมืองเลิกล้วงลูก ส่วนทีดีอาร์ไอแนะตั้งมืออาชีพนั่งบอร์ดแทนระบบโควตา

วันนี้ (17 เม.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.การบินไทย) ได้จัดเสวนา “ฝ่าวิกฤติการบินไทย จะรอดอย่างไร? ใครกำหนด?” โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดการเสวนา โดยได้ร่วมรับทุกฝ่ายและมุมมองนักวิชาการผู้มีประสบการณ์การบริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อตอบโจทย์และหาแนวทางการพัฒนาและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เนื่องจากทุกครั้งที่การบินไทยเกิดวิกฤต ทั้งผลประกอบการ การบริหารจัดการและธรรมาภิบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเหมือนไม่มีทางออกสำหรับสายการบินแห่งชาติในการดำรงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเหมือนในอดีต

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า การบินไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันมาหลายปี ในวันนี้ยืนยันว่าต้องรักษาให้เป็นสายการบินแห่งชาติที่สามารถแข่งขันได้ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนต่อไป เพราะการบินไทยตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง เป็นภาพลักษณ์ของประเทศที่จะสื่อถึงวัฒนธรรมต่างๆ โดยอาจจะต้องใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขปัญหา 6 เดือน-1 ปี หรืออาจจะถึง 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กลับมาเป็นที่หนึ่งของภูมิภาค ส่วนอนาคตจะปรับปรุงหรือจะแปรรูปหรือไม่ต้องหารือกับทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน, สหภาพฯ อีกครั้ง ข้อเสนอแนะในการเสวนาจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดี ซึ่งเรื่องเร่งด่วนคือทุกคนในบริษัทต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา

โดยภายใน 6 เดือนนับจากเดือนมีนาคมจะกำหนดแผนปรับปรุงและกลยุทธ์ที่จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคอาเซียนแล้วเสร็จ ซึ่งจะเห็นแผนชัดเจนว่าในระยะสั้นช่วง 6 เดือน-1 ปีต้องทำอะไรบ้าง ระยะกลางใน 3-5 ปีทำอะไร ซึ่งในวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของพนักงานและฝ่ายบริหารการบินไทยที่จะร่วมมือกัน เพราะเข้าใจว่าฝ่ายการเมืองเองได้ให้โอกาส หากสามารถพิสูจน์ผลงานได้เชื่อว่าการเมืองจะไม่เข้ามาและปล่อยให้การบินไทยทำงานด้วยตัวเอง เชื่อว่าหลังจากนี้ 6 เดือนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ส่วนกรณีที่สหภาพฯ เรียกร้องให้นายอำพน กิตติอำพน ออกจากบอร์ดนั้น ได้ชี้แจงสหภาพฯแล้วว่า ตามขั้นตอนนายอำพนได้รับเสนอชื่อเข้ามาเป็นบอร์ดอีกครั้ง และในฐานะที่เพิ่งได้แต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดต้องการแก้ปัญหาองค์กรก่อน แก้ขัดแย้งตัวบุคคลทันทีคงไม่เหมาะ และประธานบอร์ดคงไม่มีสิทธิ์บังคับให้ใครออกได้ต้องเป็นความสมัครใจของคนคนนั้น

“ปัญหาที่ผ่านมาคงแก้ไขไม่ได้ กรณีที่ตั้งข้าราชการมาเป็นบอร์ดแล้วไม่มีเวลาทำงานไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่อยู่ที่จะให้เวลากับการบริหารการบินไทยเท่าไร ไม่ใช่รู้ตัวว่ามีข้อจำกัดแต่ยังมาเป็นบอร์ด แต่ก็ไม่ใช่จะไม่ให้โอกาสข้าราชการ”

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ผลประกอบการใน 3 เดือนแรกปี 57 (ม.ค.-มี.ค.) ยังติดลบและจะมีผลกระทบไปถึงไตรมาส 2/57 (เม.ย.-มิ.ย.) แน่นอน แต่ยังคาดหวังว่าในไตรมาส 3/57 ช่วงเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (High Season) และไตรมาส 4/57 ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวสถานการณ์ด้านท่องเที่ยวจะดีขึ้น ซึ่งบริษัทต้องเพิ่มโอกาสการขายเพื่อเพิ่มรายได้ควบคุมค่าใช้จ่าย, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, การบริการ, สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย เขื่อมั่น หากฝ่ายบริหารและพนักงานทุกคนร่วมมือ ภายใน 2 เดือนนี้และ 2 ไตรมาสที่หลือจะมีกำไรมาชดเชยขาดทุนใน 2 ไตรมาสแรก ซึ่งคาดว่าทั้งปี 57 จะไม่ขาดทุน โดยตั้งเป้ากำไรทั้งปีไว้ที่ 100 ล้านบาท โดยยังคงแผนปลดระวางเครื่องบินกว่า 10 ลำในปีนี้ ซึ่งขึ้นกับว่าจะหาผู้ซื้อได้หรือไม่

ส่วนปี 58 ตั้งเป้ากำไรที่ 4,500 ล้านบาท โดยแก้ปัญหาเพื่อลดการสูญเสียจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากผลงานในปี 56 พบว่าการขายตั๋วเป็นเงินกว่า 50 สกุลและแลกกลับมาเป็น 4 สกุลหลักทำให้สูญเสียจากอัตราแลกเปลี่ยน 4,000-5,000 ล้านบาท เชื่อว่าหากบริหารให้ดีจะไม่เกิดการสูญเสียอีก รวมถึงลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้จากการขายตั๋วอีก 5-10% ของที่นั่งจากปัจจุบัน 60% ให้เป็น 65-70%

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การบินไทยมีการบริหารที่อ่อนแอ ขาดกลยุทธ์ระยะสั้น และต้นทุนไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเปรียบเทียบเส้นทางภายในประเทศต่อกิโลเมตร การบินไทยอยู่ที่ 3.60 บาท บางกอกแอร์เวย์ส 3.10 บาท นกแอร์ 2.40 บาท แอร์เอเชีย 1.65 บาท เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งเดียวที่แข่งขันโดยสมบูรณ์ไม่มีสิทธิพิเศษภายหลังเปิดเสรีการบิน แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบรัฐวิสาหกิจจึงไม่คล่องตัว มีการแต่งตั้งบอร์ดโดยเป็นข้าราชการประจำและผู้ทรงคุณวุฒิตามโอกาสของนักการเมืองฝ่ายละครึ่ง และบอร์ดลงไปช่วยบริหารหรือล้วงลูกมากเกินควร ซึ่งไม่เหมาะกับธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่อยู่ในระดับโลกทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีปัญหารั่วไหลจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่คล่องตัวตามภาวะตลาด, ต้องประมูล, ต้องผ่านเอเยนต์, ซื้อเป็นรายปีครั้งละมากๆ, การต้องใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าสายการบินที่มีแผนจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การบินไทยจัดซื้อปีละ 4 หมื่นล้านบาท สายการบินอื่นจะใช้เงินเพียง 6,000-10,000 ล้านบาทเท่านั้น การเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้มาจากผลงานแต่มาจากเป็นคนของใคร ซึ่งขณะนี้หลายสายการบินเดินหน้าแปรรูปเป็นเอกชนโดยสมบูรณ์

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งคือ โครงสร้างบอร์ดที่ไม่ได้คัดสรรบุคคลที่เป็นมืออาชีพในด้านต่างๆ ที่ช่วยบริหารธุรกิจการบินให้แข่งขันได้ ส่วนใหญ่ตั้งจาก รมว.คลัง และ รมว.คมนาคม แบ่งโควตากัน บางคนไม่มีความรู้เรื่องการบินเลย จากการศึกษาสิงคโปร์แอร์ไลน์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกันแต่บอร์ด 6 คนคัดสรรจากนักบริหารมืออาชีพระดับโลกที่เชี่ยวชาญจริง ทั้งด้านการเงิน, การตลาด, การขนส่ง, เทรดดิ้ง นอกจากนี้การเมืองยังไม่เข้าไปแทรกแซงในการสรรหาซีอีโอโดยมี KPI ชี้วัดการทำงานชัดเจน ทั้งนี้ จุดแข็งที่จะช่วยการบินไทยคือ โอกาสด้านการท่องเที่ยว, การเปิด AEC, เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่จุดอ่อนคือปัญหาภายในองค์กร การจัดซื้อจัดจ้างรั่วไหล ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลและให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบบัญชีจะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น