“ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” แจงนั่งเก้าอี้บอร์ด “อินทัช” ไม่เกี่ยวตระกูล “ชินวัตร” ระบุ “ปตท.” ถูกโจมตีการแปรรูป แม้จะพยายามทำความจริงให้ปรากฏ ลั่นความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ใครพูดไม่จริงต้องเสื่อมไป พร้อมเผยเบื้องลึกช่วงที่นำ ปตท. เข้าตลาดหุ้น และมาร์เกตแคปที่เพิ่มขึ้น 12 เท่า ส่งผลให้ราคาหุ้น PTT เพิ่มขึ้น 6-7 เท่าตัว
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นพีทีทีจีซี ต่อกรณีที่ถูกกล่าวหาจากเวที กปปส. ที่ระบุว่า ตนเองนำ ปตท. ไปมีส่วนเกี่ยวโยงกับตระกูลชินวัตร และผู้เกี่ยวข้อง เพราะเข้าไปเป็นกรรมการใน “อินทัช” และ “ทีทีเอ” โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการเข้าไปเป็นกรรมการ 2 บริษัท หลังจากพ้นตำแหน่งซีอีโอ ปตท. เมื่อเดือนกันยายน 2554 และเข้าไปเป็นบอร์ดอินทัช เพราะทางกองทุนเทมาเส็กทาบทาม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นเดิมของชินคอร์ป เพราะตระกูล “ชินวัตร” ได้ขายแก่เทมาเส็กไปก่อนหน้านี้
ส่วนการเข้าไปเป็นกรรมการทีทีเอ ก็ดูแล้วว่าทีทีเอ ก็ไม่ได้มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ ปตท. เพราะเป็นเรือขนส่งสินค้าเทกอง ไม่ได้ขนส่งปิโตรเลียมแต่อย่างใด นอกจากนี้ มีการโยงโจมตีที่กรณีได้เข้าเป็นบอร์ดธนาคารกรุงไทย ทั้งที่ถูกทาบทามให้เป็นแทนนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทยที่เสียชีวิต ซึ่งก็เป็นการสร้างละครมาโจมตีอีก ก็ขอยืนยันว่า ทุกอย่างโปร่งใส
นายประเสริฐ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.ถูกโจมตีเรื่องการแปรรูปมาโดยตลอด ซึ่ง กลุ่ม ปตท.ได้พยายามทำความจริงให้ปรากฏ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย โดยใครพูดไม่จริงในที่สุดก็ต้องเสื่อมไป ทั้งนี้ ช่วงที่ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 เป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่มีการโจมตีอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ สหรัฐอมเริกา ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกมีปัญหา และช่วงนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีมาร์เกตแคปเพียง 1.5 ล้านล้านบาท แต่ในขณะนี้ (ปี 2557) มาร์เกตแคปตลาดเพิ่มขึ้น เป็น 12 ล้านล้านบาท ราคาหุ้นหลายตัวรวมทั้ง ปตท.ก็ปรับขึ้น 6-7 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด โดยหากใครมีข้อสงสัยใดๆ แนะนำให้อ่านบทความของนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตประธาน บล.ภัทร 1 ใน 6 บริษัทที่ปรึกษาแปรรูป ปตท.ในช่วงนั้น ก็จะทราบเหตุผลข้อเท็จจริงของการกำหนดราคาหุ้น และภาวะหุ้นที่ชัดเจน