xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงวิกฤต ขาดงบบูรณะทางหลวง 4 สายหลัก ฝัน รบ.ใหม่อัดฉีดงบปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลกระทบ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านขัดกฎหมาย กรมทางหลวงขาดงบบูรณะทางหลวง 4 สายหลักในปี 57 คาดวิกฤตแน่หากถนนพังเพราะทำได้แค่ปะผุ เหตุเทงบประจำปีไปซ่อมทางสายรองหมด เพราะหวังได้ใช้เงินใน 2 ล้านล้านที่ตั้งไว้กว่า 5 หมื่นล้านบูรณะทางหลวง ขณะที่ปรับแผนงานเตรียมเสนองบประมาณปี 58 จำนวน 1.5 แสนล้านบาททดแทน “อธิบดี ทล.” ลุ้น รบ.ใหม่ทำคลอดงบปี 58

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานของกรมทางหลวงในปี 2558 และปี 2559 จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านงบประมาณ จากเดิมที่นำโครงการซ่อมบำรุงทางหลวงสายหลัก งานปรับปรุงขยายถนน 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ ระยะ 2 วงเงินลงทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท
บรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทแต่ไม่สามารถดำเนินการได้

โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 ซึ่งในส่วนของกรมทางหลวงจะเสนอขอตั้งงบในปี 2558 ไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ได้รับงบประมาณที่ 5.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่ไปอยู่ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อกู้ไม่ได้จึงต้องโอนโครงการกลับเข้าสู่การใช้จ่ายงบประมาณปกติในปี 2558 ซึ่งจะต้องขึ้นกับแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ด้วยว่าจะมีนโยบายเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด และจะตั้งงบประมาณขาดดุลเท่าไร

ในแต่ละปีกรมทางหลวงจะได้รับจัดสรรงบประมาณเฉลี่ย 7-8 หมื่นล้านบาท โดยงานหลักจะเป็นการซ่อมบำรุงสายทางต่างๆ ในลักษณะเป็นการซ่อมแบบประทังพอให้เส้นทางใช้งานได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งต้องยอมรับว่างบประมาณที่ได้แต่ละปีไม่เพียงพอต่อปริมาณถนนที่เสียหาย ส่วนทางหลวงสายหลัก คือ ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิทไม่เคยได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เลยเป็นเวลามากกว่า 15 ปี หลังจากมีการขยายป็น 4 ช่องจราจร 8 ช่องจราจร ในขณะที่ตามหลักทางหลวงสายหลักควรต้องได้รับการบูรณะครั้งใหญ่หลังจากผ่านการใช้งานมา 10 ปี

ซึ่งการบูรณะทางหลวงสายหลัก 4 สายทั่วประเทศคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2557 ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ มีแต่งบประมาณซ่อมบำรุงทางสายรอง ดังนั้นจะปรับแผนการทำงาน โดยมอบหมายให้เขต แขวงการทางในแต่ละภูมิภาคดำเนินการซ่อมบำรุงสัญญาเล็กเอง วงเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ที่เหลือ 1.3 หมื่นล้านบาทจะเป็นงานซ่อมบำรุงโครงการใหญ่ซึ่งกรมทางหลวงส่วนกลางจะดำเนินการประมูลเอง

นายชัชวาลย์กล่าวยอมรับว่า การซ่อมบำรุงทางหลวงสายหลักในปี 2557 สะดุดแน่นอนเพราะไม่มีงบดำเนินการ หากมีการชำรุดเกิดขึ้นจะซ่อมแบบประทังใช้ได้ไปพลางก่อน โดยใช้งบปกติที่ตั้งเผื่อไว้ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาทสำหรับงานปรับปรุงทางที่จำเป็นทั้งหมด และเมื่อขาดการบูรณะแบบถาวร ประกอบกับทางหลวงสายหลักมีปริมาณรถหนาแน่น คาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะเห็นความชำรุดเสียหายที่ชัดเจนขึ้น และคงจะมีการร้องเรียนจากผู้ใช้ทางแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากการจัดการลงทุน จากงบประมาณไปเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขคอขวด ขยายถนน 4 ช่องจราจร ระยะ 2 ระยะทางประมาณ 1,800 กม. วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทที่บรรจุไว้ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เช่น สายตาก-แม่สอด, สายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย, สายสีคิ้ว-โชคชัย-เดชอุดม-อุบลราชธานี เป็นต้นโดยส่วนใหญ่เป็นสายทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยด้วย โดยจะเสนอขอตั้งงบปี 2558 ดำเนินการเช่นกันเนื่องจากมีการออกแบบเรียบร้อยแล้วมีความพร้อมในการก่อสร้าง รวมถึงโครงการถนนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ขยาย 4 ช่องจราจร สายเชียงราย-เชียงของ, สุไหโก-ลก-ตากใบ และสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 (แม่สอด)

อย่างไรก็ตาม โครงการถนนสายหลักของประเทศไทยค่อนข้างมีความสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่จะต้องมีการบูรณะซ่อมแซม และขยาย 4 ช่องจราจรในสายทางที่ยังเป็นคอขวดเพื่อให้การเดินทางและขนส่งสินค้ามีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของประเทศลง เพราะถ้าถนนมีสภาพไม่ดี ชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นคอขวด ผลกระทบจะเป็นลูกโซ่ ทั้งรถพัง เสียเวลาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ต้นทุนการขนส่งสูง

ดังนั้น การลงทุนด้านถนนยังมีความจำเป็น เพราะถนนยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ จึงเชื่อว่าทุกรัฐบาลยังคงเห็นความสำคัญในการลงทุน โดยเฉพาะทางหลวงสายหลักทั้ง 4 เส้นทางที่เป็นประตูในการเดินทางไปยังทุกภาคของประเทศ หากรัฐบาลไหนตัดสินใจลงทุนขยายเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดน่าจะเป็นผลต่อคะแนนเสียง...ใครทำ...ใครได้...อยู่ที่กล้าหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น