พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านสะดุด ทำกรมทางหลวงไร้งบซ่อมบำรุงทางสายหลักปี 57 “อธิบดี” เผยต้องเร่งเกลี่ยงบเผื่อเหลือขาดมาใช้เฉพาะในเส้นทางชำรุดหนัก ซึ่งมีไม่ถึง 1 พันล้าน หวังแก้ปัญหาขอตั้งงบปี 58 งบซ่อมทางสายหลักรวดเดียว 3.1 หมื่นล้านชดเชย ขณะที่จ้างศึกษาทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาทางหลวงรับเปิด AEC ดันไทยศูนย์กลางคมนาคม ท่องเที่ยว ศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาค
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างปรับแผนการใช้งบประมาณปี 2557 ในส่วนของการซ่อมบำรุงทางหลวงสายหลัก ซึ่งไม่ได้มีการจัดสรรงบประจำปีไว้เนื่องจากกำหนดว่าใช้เงินลงทุนจาก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท วงเงินรวมประมาณ 31,000 ล้านบาทแทน แต่เมื่อ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ถนนที่เสียหายมากขึ้นจะใช้วิธีเกลี่ยจากงบประมาณปกติและงบเผื่อเหลือเผื่อขาดซึ่งมีประมาณ 1,000 ล้านบาทมาใช้ซ่อมบำรุงเฉพาะหน้าในเส้นทางที่มีความเสียหายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปก่อน
ทั้งนี้ แต่ละปีกรมทางหลวงจะได้รับงบประมาณซ่อมบำรุงถนนสายหลักเฉลี่ย 4,000 ล้านบาท ถนนสายรองเฉลี่ย 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าถนนสายหลักก่อสร้างมา 15 ปีแล้วถึงเวลาซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) เป็นต้น โดยหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านไม่สามารถดำเนินการได้ แนวทางแก้ไขหลังจากนี้คือจะเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2558 วงเงิน 31,000 ล้านบาทสำหรับการซ่อมบำรุงชดเชย ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณขาดดุลมากกว่าปกติเพื่อเร่งรัดงานซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน
โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กรมทางหลวงได้จัดสัมมนาโครงการรับฟังความคิดเห็นผู้ใช้บริการของกรมทางหลวง ในการศึกษาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนด้านการขนส่งท่องเที่ยว ลอจิสติกส์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ภาคการค้าส่งและค้าปลีก ฯลฯ เข้าร่วมประมาณ 300 คน ซึ่งนอกจากรวบรวมความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องแล้วจะมีการศึกษาสำรวจออกแบบการก่อสร้างทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างถูกต้อง โดยจะใช้เวลาศึกษา 15 เดือน แล้วเสร็จสิ้นปี 2557
นายชัชวาลย์กล่าวว่า ปัจจุบันโครงข่ายทางหลวงของไทยมีความครอบคลุมและสมบูรณ์ระดับหนึ่ง แต่หลังเปิด AEC จะมีผู้ใช้ถนนเพิ่มจาก 60 ล้านคนเป็นกว่า 500 ล้านคน การศึกษาจะมีการวิเคราะห์ประเมินปริมาณการจราจรที่จะเกิดขึ้นและการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อวางแผนก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงข่ายจัดลำดับโครงการเพื่อของบประมาณได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากโครงข่ายทางหลวงใช้เงินลงทุนสูง หากวางแผนดีการลงทุนจะคุ้มค่า และหากสามารถพัฒนาทางหลวงของไทยให้ดี มีมาตรฐาน สะดวก ปลอดภัย จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและการกระจายสินค้า ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค และหลังจากนี้จะต้องดูในเรื่องกฎระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พิธีการผ่านแดน การควบคุมน้ำหนักบรรทุกระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการให้บริการหลังเปิด AEC อีกด้วย
“กรมทางหลวงมีการศึกษาแผนแม่บทในการพัฒนา ปรับปรุงเส้นทางและโครงข่ายถนนอยู่แล้ว แต่การศึกษาจะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้นว่าทางหลวงเส้นทางจะมีผู้ใช้มากขึ้น และต้องพัฒนาอย่างไร เมื่อไร วางแผนดีจะทำให้การลงทุนคุ้มค่า ส่วนการลงทุนจะใช้ทั้งงบประมาณประจำปีปกติ, การร่วมทุนกับเอกชนและการกู้เงิน ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน” นายชัชวาลย์กล่าว