“สมชาย” เฉ่งรัฐบาลอุ้มเฉพาะเกษตรกรปลูกข้าวโพด 6 จังหวัดหัวคะแนนพรรคแกนนำรัฐบาล ชี้เป็นช่องทางทุจริตเหตุเงินไม่ถึงมือเกษตรกร จี้สอบผู้เกี่ยวข้อง “คำนูณ” เรียกร้องรัฐบาลแจงแนวคิดตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ให้ชัดเจน ด้าน “วันชัย” โวย ป.ป.ช.งานสุดอืด ทำคนบริสุทธิ์มีความผิดติดตัวเป็น 10 ปี
การประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญทั่วไป วันนี้ (8 ต.ค.) มีวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หารือกับที่ประชุมกรณีช่วยเหลือเกษตรกรด้วยงบประมาณ จำนวน 2,390 ล้านบาท เพื่อแทรกแซงข้าวโพดให้กับเกษตรกร โดยขยายสิทธิ์ให้กับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมจำนวน 1.4 แสนครัวเรือน นอกจากนั้นจะจ่ายเป็นค่าชดเชยการขนส่งให้กับผู้รวบรวมและสหกรณ์ที่รวบรวมผลผลิตข้าวโพดในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่, จ.เชียงราย, จ.น่าน, จ.พะเยา, จ.ตาก และ จ.แม่สอน เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพด รวมถึงมีมาตรการผลักดันการส่งออกให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินชดเชย กิโลกรัมและ 50 สตางค์ ทั้งนี้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดและได้รับความเดือดร้อนไม่ได้มีเพียง 6 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ
นายสมชาย กล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกทำเฉพาะกลุ่มและเลือกปฏิบัติเฉพาะการชดเชยผู้รวบรวมข้าวโพด ถือเป็นช่องทางการทุจริต เพราะเงินชดเชยไม่ถึงมือเกษตรกร แต่เลือกส่งผ่านหัวคะแนนทั้งหมด โดยไม่ครอบคลุมปัญหาของเกษตรกรทั่วประเทศ
“รัฐมนตรีบอกว่าจิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับการช่วยทางอื่น แต่ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดมีมากกว่า 40 จังหวัด ไม่ใช่มีเฉพาะ 6 จังหวัดที่เป็นหัวคะแนนเท่านั้น แต่จังหวัดที่รัฐบาลอนุมัติการเยียวยาแก้ผู้รับค้าและผู้ส่งออก แต่เกษตรกรกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ และเหตุใดรัฐบาลถึงไม่หยุดการรับข้าวโพดจากต่างประเทศ เรื่องนี้มีเหตุผลทางการเมือง ผู้มีหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบการทุจริตครั้งนี้”
จากนั้น นายคำนูณ ขอหารือกรณีการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) ว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาชี้แจงแนวคิดนี้ เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนจะมาเป็นช่วงผลุบๆ โผล่ๆ ล่าสุด นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ก็ออกมาพูดเกี่ยวกับแนวคิดนี้ แต่ นายอำพน ก็เป็นคนที่อยู่กับฟากรัฐมนตรีมาก่อน รัฐบาลจะต้องชัดเจนเกี่ยวกับแนวความคิดด้านนี้ว่าจะเอาอย่างไร ด้านหนึ่งจะกู้ 2 ล้านล้านบาท อีกด้านหนึ่งก็จะออกมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ สัก 1 ล้านล้านบาท เพราะวิธีการที่จะนำทุนสำรองของประเทศออกมาก็มีอยู่ 2 วิธีเท่านั้น คือ
1.รัฐบาลออกพันธบัตรเงินบาท นำเงินบาทที่ได้จากตลาดไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ออกมา 2.การแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 แยกบัญชีย่อยให้สามารถจัดสรรทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเท่านั้น
ส่วน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา หารือต่อที่ประชุมว่า ความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม สิ่งที่ตนเห็นมาตลอดคือการทำงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คดีบางคดีพิจารณาแล้วไม่มีมูลความผิด หรือยกฟ้อง ใช้เวลาพิจารณาไม่ต่ำว่า 5-10 ปี อย่างกรณีการยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และยังมีคดีของนายเสนาะ เทียนทอง หรือนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการพิจารณา แปลว่ากระบวนการไต่สวน สอบสวนทั้งหมดเพื่อจะชี้ว่าคนๆ นี้ไม่มีความผิดใช้เวลานานมาก สูญเสียสิ่งต่างๆ ไปมากในระหว่างการพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องของความรู้สึก คนที่มีคดีติดตัวเป็นสิบๆ ปี นั้นจะเล่นการเมืองก็ไม่ได้จะทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ในที่สุดก็สั่งว่าคดีนั้นไม่มีความผิด ตนจึงเห็นว่าการพิจารณาคดีเหล่านี้ล่าช้าเกินความจำเป็นและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เขา
“อย่างคดีที่เราร้องนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา หรือนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กว่าจะมีการพิจารณา ตอนนั้นทั้งสองคนก็คงเกือบ 80 ปีแล้ว และต้องมายื่นให้สภาถอดถอนตรงนี้ เขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ตนจึงขอเรียกร้องให้การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.มีความรวดเร็วมากกว่านี้”