รฟม.หวั่นถูกครหาล็อกสเปคสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้้ำงิน ให้ BMCL กินรวบรายเดียว ยึกยักแก้ TOR ปรับเสปกเปิดกว้างตัดเงื่อนไขที่ต้องมีประสบการณ์เดินรถในไทยออก เผยเขียนTOR อย่างไรก็ได้แต่ปฎิบัติจริงยาก เหตุรายเดิมยังไงก็ได้เปรียบ แถมเดินรถเป็นวงกลมรายเดียว ผู้โดยสารสะดวกที่สุด บอร์ดขีดเส้นต้องได้ผู้เดินรถในปีนี้
หวั่นล่าช้าซ้ำรอยสีม่วง
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประปวดราคางานวางระบบและจัดหารถไฟฟ้าและเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค)ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานได้เร่งรัดการเปิดประกวดราคาเนื่องจากเริ่มล่าช้ากว่าที่กำหนดว่าจะเปิดประกวดราคาช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเกรงว่า จะมีปัญหาเช่นเดียวกับสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ที่สัญญาเดินรถล่าช้ากว่าแผนมาแล้ว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ยังไม่สามารถเปิดประกวดราคางานเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินได้ เนื่องจาก รฟม.ต้องการปรับร่าง TOR ให้มีเงื่อนไขที่เปิดกว้างมากที่สุด เช่น กำหนดให้ผู้ยื่นประกวดราคาไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ให้บริการเดินรถไฟฟ้าในประเทศไทย แต่ต้องมีผู้ร่วมทุนเป็นบริษัทสัญชาติไทยถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่า 51%ซึ่งเป็นนัยหนึ่งของแนวคิดเพื่อไม่ให้เข้าข่ายล็อกให้ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลอยู่แล้ว ได้งานสาวนต่อขยายต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แม้การปรับร่าง TOR ให้มีเงื่อนไขเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้มีผู้เข้าแข่งขันมากรายขึ้น ฬึ่งจะทำให้ราคาถูกลงก็ตาม
โดยต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน คือ สายทางที่ต่อเชื่อมกับสายเฉลิมรัชมงคลและทำให้การเดินรถสายสีน้ำเงินมีลักษณะวงกลม ดังนั้นผู้เดินรถในสายทางที่เปิดให้บริการแล้วจะมีข้อได้เปรียบสูงมากและยังทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกมากกว่าการมีผู้ให้บริการ 2 ราย 2 ระบบ ในเส้นทางเดียวกันนอกจากนี้การกำหนดว่าผู้เข้าประมูลไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งผู้เดินรถรายใหม่อาจมีความเสี่ยงสูงอีกด้วย
“รฟม.บอกว่าจะเปิดประมูลปลายก.พ.แต่มียึกยักนิดหน่อย ประเด็นที่ไม่อยากให้รายเก่าได้งานไปทั้งหมด การพยายามปรับร่าง TOR เพื่อให้เปิดกว้างมากขึ้น ทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ปฎิบัติได้จริงค่อนข้างยาก เพราะสายนี้เดินรถเป็นวงกลม ผู้เดินรถรายเดิมจึงได้เปรียบมาก และผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกกรณีเดินรถต่อเนื่อง” แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นบอร์ดต้องการให้ รฟม.เปิดประกวดราคาโดยได้ตัวผู้รับเดินรถภายในปีนี้ เนื่องจากต้องเผื่อเวลาสำหรับการประเมินข้อเสนอทางเทคนิค การสั่งซื้อรถ และการทดสอบเดินรถที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยหากเป็นผู้เดินรถเป็น BMCL รายเดิมมีข้อดีที่สามารถเร่งรัดงานได้ เพราะมีการสั่งซื้อรถสำหรับวิ่งบริการสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ อยู่แล้วเมื่อสั่งซื้อเพิ่มอีกผู้ผลิตก็จะดำเนินการให้เร็วมากขึ้น