รฟม.ปรับ TOR ประมูลเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เน้นเปิดกว้างให้ยื่นประมูลได้หลายรายโดยมีบริษัทไทยร่วมทุนไม่น้อยกว่า 51% เผยบทเรียนสายสีม่วงกำหนดคุณสมบัติต้องเคยเดินรถไฟฟ้าในไทยเป็นเงื่อนล็อกทำให้มียื่นประมูลแค่ 2 ราย ทำให้แข่งขันราคาไม่เต็มที่ เตรียมสรุปเร่งเปิดขายซอง มี.ค.นี้ ยอมรับล่าช้ากว่าแผนเลื่อนออกไปเป็น ก.ค. 2560
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ดำเนินการระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ว่า ขณะนี้คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ที่มีนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รฟม.เป็นประธานยังอยู่ระหว่างการปรับรายละเอียด ร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ให้เหมาะสม คาดว่าจะสามารถสรุปได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้และเริ่มประกาศประกวดราคาในเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เคยมีมติให้ รฟม.ปรับปรุงร่าง TOR เพื่อแก้ปัญหาใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1. ทำอย่างไรให้มีผู้ยื่นข้อเสนอหลายรายเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างเต็มที่ 2. ขั้นตอนการประมูลและกรอบการเจรจาที่ไม่ยืดเยื้อ โดยให้เสนอแนวทางต่อคณะกรรมการมาตรา 13 ส่วนรูปปแบบใช้ PPP : Gross Cost คือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสารโดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถแล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่เช่นเดียวกับสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)
“บอร์ดให้นำวิธีการประมูลเดินรถสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคล และสีม่วง มาเป็นบทเรียนว่ามีจุดดี จุดด้อยตรงไหน เช่น ตอนประมูลสายเฉลิมรัชมงคลไม่ได้กำหนดว่าผู้เสนอต้องมีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าในประเทศไทย เพราะตอนนั้นเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของไทย แต่พอสายสีม่วงกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอว่าต้องเคยเดินรถไฟฟ้าในไทยมาก่อน จึงมีแค่ 2 รายที่ยื่นได้ คือ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ดังนั้นครั้งนี้จะตัดเรื่องนี้ออกเพื่อเปิดให้มีหลายรายเข้ามาเสนอราคาแข่งขันได้ บริษัทไทยที่ไม่เคยเดินรถไฟฟ้าสามารถร่วมกับบริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์เข้ามาได้ โดยกำหนดสัดส่วนหุ้นบริษัทไทยไม่น้อยกว่า 51% ต่างชาติ 49% เป็นต้น” นายยงสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ การมีผู้แข่งขันหลายรายยังมีผลต่อการกำหนดกรอบเจรจาที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย หลังจากที่ประมูลเดินรถไฟฟ้าสีม่วงต้องเสียเวลาเจรจาต่อรองกับบีเอ็มซีแอลกว่า 1 ปี หลังจากเปิดข้อสนอราคาไปแล้ว
นายยงสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากเปิดประกวดราคาในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนสรุปผลการประกวดราคา โดยหลังขายซองประกวดราคาจะให้เวลาในการจัดทำเอกสารรายละเอียข้อเสนอประมาณ 4-5 เดือน จากการประกวดราคาเดินรถสายสีม่วงที่ให้เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไปจนผู้แข่งขันทำรายละเอียดไม่ทัน และพิจารณาข้อเสนอและเจรจาอีก 6 เดือนจะสามารถสรุปผลเสนอ ครม.พิจารณาได้
อย่่างไรก็ตาม จากการติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าล่าสุด พบว่างานเดินรถสายสีน้ำงินส่วนต่อขยายที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 ทำให้ยังไม่สามารถประกาศเชิญชวนได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อแผนการเปิดเดินรถ ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนกรกฎาคม 2560 ส่วนการก่อสร้างงานโยธา ถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 มีความก้าวหน้ารวม 53.19 % จากแผนงาน 53.34 % ยังล่าช้ากว่าแผนประมาณ 0.15%