xs
xsm
sm
md
lg

บีเอ็มซีแอลจ่อฮุบสัญญาเดินรถเตาปูน-บางซื่อ 1 สถานี บอร์ด รฟม.เคาะไม่ประมูลรอ ครม.ไฟเขียวเรียกเจรจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด รฟม.อนุมัติให้เจรจากับบีเอ็มซีแอลเดินรถ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ของสายสีม่วงสัญญา 5 โดยไม่ต้องประมูล เร่งชงคลัง-สศช.เห็นชอบ แต่ต้องรอ ครม.ชุดใหม่อนุมัติ เหตุ กม.กำหนดให้ประมูลยกเว้น ครม.เห็นชอบก่อน ส่วนรูปแบบจะเป็นสัมปทานหรือจ้างวิ่งก็ได้ขึ้นกับการเจรจา

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 5 การเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ โดยให้ใช้วิธีเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอลผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินมาเดินรถไฟฟ้าช่วง 1 สถานีโดยไม่ต้องเปิดประกวดราคา และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบก่อนจึงจะเจรจากับบีเอ็มซีแอลได้ต่อไป 

โดยก่อนหน้านี้ รฟม.ได้สรุปว่าควรเรียกบีเอ็มซีแอลมาเจรจาเดินรถ 1 สถานี โดยใช้รูปแบบ PPP : Net Cost (รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนได้รับสัมปทานเก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ) เหมือนสัมปทานรถไฟใต้ดินในปัจจุบัน 

และได้เสนอ ครม.ซึ่ง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 เห็นชอบรูปแบบโดยเปิดกว้างไว้ว่า หากใช้วิธี PPP Net Cost ไม่สำเร็จให้ใช้ PPP: Gross Cost (รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถแล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่) เหมือนสายสีม่วง

ทั้งนี้ การเจรจาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รวมทุนฯ 35) โดยทำตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 โดยรูปแบบ PPP : Net Cost จะทำเป็นสัญญาแนบท้ายสัมปทานเดิมของบีเอ็มซีแอลที่บริษัทได้ลงทุนก่อสร้าง 18 สถานี เท่ากับต้องลงทุนเฉพาะระบบเพิ่มอีก 1 สถานี และเจรจาส่วนแบ่งรายได้กันใหม่
 
หากตกลงไม่ได้ ให้ใช้รูปแบบ PPP : Gross Cost (จ้างวิ่ง) ซึ่งจะยึดโมเดลการเดินรถแบบสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ก็ได้ แต่เอกชนอาจไม่อยากลงทุนเพราะอายุสัญญาส่วนนี้จะแค่ 13 ปี โดยต้องหมดพร้อมสัญญารถไฟฟ้าใต้ดิน หรือใช้โมเดลของกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ที่ กทม.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเองและจ้างบีทีเอสวิ่ง

“การเดินรถเพียง 1 สถานี บีเอ็มซีแอลจะเดินรถจากระบบรถไฟฟ้าใต้ดินต่อไปอีก 1 สถานี ซึ่งบริษัทต้องซื้อขบวนรถในส่วนของใต้ดินเพิ่มอยู่แล้วสะดวกและผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสูงสุด ไม่ต้องวิ่งมาแค่ 1 สถานีก็ต้องต่อรถขบวนใหม่ โดยหาก ครม.เห็นชอบภายในปี 57 ยังมีเวลาอีก 2 ปี” นายยงสิทธิ์กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบแนวทางการเจรจาโดยไม่เปิดประกวดราคา เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เปิดประกวดราคาแต่ถ้าไม่ประกวดราคาต้องให้ ครม.เห็นชอบก่อน เพราะในทางปฏิบัติ เดินรถ 1 สถานีประกวดราคาไม่ได้เพราะยุ่งยาก ส่วนการเดินรถของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ใช้รูปแบบ PPP : Gross Cost (จ้างวิ่ง) โดยเปิดประกวดราคาคาดว่าจะมีเอกชนหลายรายเข้าร่วมประกวดราคา แต่ต้องยอมรับว่ามีข้อได้เปรียบทั้งในเรื่องการกำหนดค่าจ้างและความสะดวกในการต่อเชื่อมระบบของผู้โดยสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น