ปตท.จ่อลงทุนท่อส่งน้ำมันไปภาคเหนือ-อีสาน รอกระทรวงพลังงานชี้ขาด คาดกลางปีนี้ได้ข้อสรุปผลศึกษาโครงการจากแทปไลน์ ยอมรับต้นทุนค่าขนส่งสู้การขนส่งทางบกไม่ได้ ส่วนยอดขายน้ำมัน 2 เดือนแรกปีนี้โตแค่ 1-2% ต่ำกว่าเป้าหมายหลังได้รับผลกระทบทางการเมือง
นายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการวางท่อน้ำมันไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการวางท่อส่งน้ำมันทั่วประเทศเพื่อให้น้ำมันมีราคาเดียวกันทั้งประเทศ โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้ศึกษาอยู่ เช่น กระทรวงพลังงาน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด หรือแทปไลน์ ที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ 33.19% คาดว่าแทปไลน์จะศึกษาเสร็จไปแล้ว 80% น่าจะมีความชัดเจนได้กลางปีนี้
หลังจากนั้นจะนำผลศึกษาของแทปไลน์ยื่นให้กระทรวงพลังงานพิจารณาด้วย หากพบว่าแทปไลน์ในฐานะภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการสร้างได้ ทางกระทรวงพลังงานก็คงจะนำโครงการดังกล่าวมาทำเอง โดย ปตท.พร้อมที่จะเป็นผู้ลงทุน
ดังนั้น ปตท.จึงต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ควบคู่ไปด้วย โดยได้รายละเอียดผลการศึกษาจะมีทั้งวงเงินลงทุน พื้นที่วางท่อน้ำมันที่เหมาะสม ผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลตอบแทนการลงทุน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการศึกษาภายในปี 2557 นี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การสร้างท่อส่งน้ำมันถือว่าเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุในการขนส่งน้ำมันบนท้องถนน ประชาชนมีโอกาสใช้น้ำมันได้อย่างทั่วถึงและสะดวกขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนการลงทุนค่อนข้างสูง เพราะยิ่งวางท่อในระยะไกล ต้นทุนจะยิ่งเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลต้องการทำให้ราคาน้ำมันทางท่อถูกกว่าการขนส่งทางรถ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนการขนส่งด้วย
“หากรัฐบาลต้องการให้ ปตท.เป็นผู้ลงทุนสร้างท่อส่งน้ำมันภายในประเทศแทนรัฐบาลนั้น ทาง ปตท.จะต้องวางแผนสร้างคลังน้ำมันไปตามแนวเส้นท่อเพื่อเป็นจุดกระจายน้ำมัน โดยจะสร้างคลังศูนย์กลางภาคละ 1 แห่งเท่านั้นเพื่อลดภาระการลงทุน”
สำหรับยอดขายน้ำมันในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ปตท.มียอดขายน้ำมันโตขึ้นเพียง 1-2% เมื่อเทียบกับปี 2556 แต่ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 3% เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.ยอดขายน้ำมันลดลงถึง 5% ซึ่งเชื่อว่าทุกค่ายน้ำมันประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
หากสถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อต่อไป เชื่อว่าปีนี้ยอดขายน้ำมันของ ปตท.จะโตต่ำกว่าเป้าหมายเหลือเพียง 1-2% หรืออาจไม่เติบโตเลย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อแผนการลงทุนสร้างปั๊มน้ำมันของ ปตท.ในอนาคต โดยปีนี้คาดว่าจะขยายปั๊มเพิ่มอีก 40 แห่ง และปรับปรุงปั๊มอีก 200 แห่งเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ระดับ 38%
นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทต่างประเทศจำนวนมากเพื่อคัดเลือกนำธุรกิจด้านอาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟูด) มาจำหน่ายในปั๊ม ปตท.ทุกแห่ง เพื่อให้ ปตท.เป็นเจ้าของกิจการฟาสต์ฟูดของตัวเอง เช่นเดียวกับธุรกิจร้านกาแฟอเมซอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจนอนออยล์ในอนาคต