xs
xsm
sm
md
lg

5 ยักษ์ฟาสต์ฟูดเมินม็อบ ทุ่ม 3.2 พันล้านปูพรมสาขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยักษ์ฟาสต์ฟูด 5 แบรนด์หลัก “เคเอฟซี-พิซซ่าฮัท-แมคโดนัลด์-เชสเตอร์-เบอร์เกอร์คิง” เดินหน้าฟาดฟันปี 2557 เต็มแรง โดยเฉพาะกลยุทธ์การปูพรมขยายสาขาเต็มพื้นที่ รวมมูลค่ากว่า 3,200 ล้านบาทแล้ว ไม่หวั่นปัญหาการเมืองไทยที่ขัดแย้งมีม็อบ เชื่อมั่นระยะยาวไทยยังแข็งแกร่ง

ตลาดฟาสต์ฟูดปี 2557 ยังคงเป็นอีกปีที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ทั้งในแง่ของการขยายสาขา การทำตลาด และการสร้างแบรนด์ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การดึงลูกค้าเข้ามาให้มากที่สุดเพื่อสร้างยอดขายและการเติบโตของธุรกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น กำลังซื้อลดลง และปัญหาทางการเมืองที่ยังรุมเร้าและลากยาวมานาน แต่ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นเชนรายใหญ่ๆ

สำหรับตลาดฟาสต์ฟูดในไทย เซกเมนต์ที่ใหญ่ๆ และมีความเคลื่อนไหวมากและแข่งรุนแรงก็มีกลุ่มไก่ทอด เบอร์เกอร์ และพิซซา จากมูลค่าการตลาดรวมเชนร้านอาหารในไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 90,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11-12% ต่อปี ซึ่งคนในวงการคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีการเติบโตที่ดีถึง 13% โดยที่กลุ่มฟาสต์ฟูดใหญ่อย่างไก่ทอด มีมูลค่า 14 ,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 13% จากปีที่แล้วที่เติบโต 10% กลุ่มเบอร์เกอร์มูลค่าตลาดรวม 6,000 ล้านบาท ปีนี้คาดเติบโต 13% จากปีที่แล้วเติบโต 9% และตลาดพิซซามูลค่า 8,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% จากปีที่แล้วเติบโต 14%

นายสุวัฒน์ ทรงพัฒนโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ในเครือซีพี ผู้บริหารร้านเชสเตอร์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดฟาสต์ฟูดในปี 2557 นี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งเรื่องการเมืองที่มีความขัดแย้งกันและมีการชุมนุมทางการเมืองหลายเดือนแล้ว เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีกำลังซื้อลดลง อารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคน้อยลงเพราะไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ แต่หากมองถึงพื้นฐานของไทยแล้วถือว่ามีความแข็งแกร่งอย่างมาก จึงไม่น่าเป็นตัวฉุดการลงทุนระยะยาวของธุรกิจฟาสต์ฟูดแน่นอน

ขณะที่ในแง่ของธุรกิจเองนั้น ร้านฟาสต์ฟูดยังต้องเผชิญกับปัญหาของการมีคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น เพราะธุรกิจร้านอาหารที่เป็นเชนเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งยังเป็นอาหารยอดฮิตของคนไทยในเวลานี้ด้วย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเข้ามาใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น ดังนั้นลูกค้าจึงต้องถูกเกลี่ยหรือแบ่งไปร้านอื่นนั่นเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวทางการแข่งขันก็ยังคงมุ่งไปที่เรื่องของการขยายสาขาให้มากขึ้นเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด และการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการผู้บริโภค รวมไปถึงการทำโปรโมชันกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจมาที่ร้านให้มากขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่ากลยุทธ์การเร่งขยายสาขานั้นจะดุเดือดมากขึ้น

โดยในส่วนของเชสเตอร์นั้น นายสุวัฒน์กล่าวว่า ปีนี้ตั้งงบลงทุนรวม 300 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนเปิดสาขาใหม่ประมาณ 20 สาขา รวมกับงบการปรับปรุงสาขาเดิมรวม 200-220 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 80 ล้านบาทเป็นงบการตลาดทั้งปี ทั้งนี้ ปัจจุบันเชสเตอร์มีสาขาเปิดบริการรวมประมาณ 190 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 120-130 แห่ง ส่วนปีที่แล้วเปิดสาขาใหม่ประมาณ 18 แห่ง ทำเลในศูนย์การค้าและผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วไป

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์คิง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือไมเนอร์กรุ๊ป ผู้รับไลเซนส์และบริหารร้านเบอร์เกอร์คิงในไทย เปิดเผยว่า ปีนี้เบอร์เกอร์คิงจะขยายสาขามากกว่าเดิม โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 สาขา ด้วยงบประมาณลงทุนรวมด้านสาขาอย่างเดียวอยู่ที่ 130 ล้านบาท ส่วนงบการตลาดอีก 60 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบลงทุนและเปิดสาขาใหม่มากกว่าปีที่แล้วที่เปิดสาขาใหม่ประมาณ 6 สาขาเท่านั้น คือที่ สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, พัทยา, ภูเก็ต และกรุงเทพฯ คือ เมอร์คิวรี่ชิดลม กับมอเตอร์เวย์

นางสาวแวคนีย์ อัสโสรัตน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านเคเอฟซีและพิซซ่าฮัทในประเทศไทย เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในปี 2557 ว่า บริษัทฯ ยังคงวางแผนการลงทุนทั้งสองแบรนด์อย่างต่อเนื่องเพราะเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว แม้ว่าช่วงนี้ยังมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองอยู่ก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าทุกอย่างคงมีทางออก และไทยก็ยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกัน

ทั้งนี้ แบรนด์เคเอฟซียังคงเป็นแบรนด์หลักที่ทั้งยัมฯ และทางกลุ่มเซ็นทรัลที่รับสิทธิ์ขยายสาขาคู่กับยัมจะลงทุนคู่กัน ซึ่งในปีนี้วางงบลงทุนรวมเคเอฟซีไว้ประมาณ 2,200 ล้านบาท แบ่งเป็นงบการลงทุนเปิดสาขาใหม่ประมาณ 50 สาขา และรีโนเวตสาขาเดิมอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท ส่วนงบที่เหลืออีก 600 ล้านบาทเป็นงบการตลาด ซึ่งปัจจุบันเคเอฟซีมีสาขาในไทยประมาณ 500 สาขาแล้วทั่วประเทศ ซึ่งยังมีโอกาสเปิดได้อีกทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาวภายในปี 2563 จะต้องขยายสาขาของเอเอฟซีให้ได้ครบ 750 สาขา

ที่สำคัญปีนี้เคเอฟซีจะโหมการขยายสาขาแบบไดรฟ์ทรูสแตนด์อะโลนมากขึ้นรวม 10 สาขาด้วย ซึ่งที่ผ่านมารูปแบบไดรฟ์ทรูก็มีบ้างแล้วแต่ยังไม่ใช่สแตนด์อะโลนโดยตรง แต่ปีนี้จะเน้นรูปแบบนี้ โดยเพิ่งเปิดสาขาแรกแบบสแตนด์อะโลนเป็นการทดลองที่ถนนศรีนครินทร์เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี แต่สาขาแบบไดรฟ์ทรูสแตนด์อะโลนนี้ต้องลงทุนสูงและหาที่ค่อนข้างยาก ซึ่งสาขาแรกนี้ก็ลงทุนไปแล้ว 40 ล้านบาท เป็นการเช่าที่ดิน

ขณะที่แบรนด์พิซซ่าฮัทนั้น ยัมฯ ซึ่งเป็นเจ้าของและลงทุนเองทั้งหมดในไทยก็เดินหน้าด้วยเป้าหมายเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ประมาณ 30 สาขา ส่วนปีที่แล้วเปิดพิซซ่าฮัทไปได้ 10 สาขา จากปัจจุบันมีร้านพิซซ่าฮัท 78 สาขา ซึ่งเป็นการลงทุนของยัมฯ ทั้งหมด

ด้านแมคโดนัลด์ก็ไม่หวั่นเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองไทยยามนี้เช่นกัน โดย นางเพชรรัตน์ อุทัยสาง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารร้าน “แมคโดนัลด์” กล่าวว่า ปีนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 500 ล้านบาทเพื่อต้องการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 25 สาขา ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะเปิดได้มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็ได้หากได้พื้นที่ที่มีทำเลดีเหมาะสมต่อการลงทุน

ขณะที่ปีที่แล้วแมคโดนัลด์เปิดสาขาใหม่ได้ 15 สาขา เพราะมีปัจจัยลบมาก ทั้งการหาทำเลดีนั้นยากหรือพื้นที่ไม่มีขนาดที่ต้องการ รวมทั้งปัญหาการเมืองด้วยในช่วงแรกทำให้สะดุดไปบ้าง ปัจจุบันแมคโดนัลด์มีสาขารวมทั้งสิ้น 191 สาขา แบ่งเป็นสาขาไดรฟ์ทรู (การสั่งซื้ออาหารโดยไม่ต้องลงจากรถ) 48 สาขา และสาขาบริการ 24 ชั่วโมง 85 สาขา และที่เหลืออื่นๆ เช่น ดีลิเวอรี ร้านเคาน์เตอร์ (บางสาขาก็มีบริการหลายรูปแบบ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากทั้ง 5 แบรนด์ใหญ่นี้รวมเงินลงทุนในปี 2557 นี้ก็มีมากกว่า 3,190-3,200 ล้านบาทแล้วในการขยายสาขาครอบคลุมในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น