“กปน.” ยอมรับมีสภาพคล่อง 4 พันล้าน เพียงพอให้ซื้อตั๋วเงินที่จะใช้ในโครงการจำนำข้าวได้ 1 พันล้าน แต่ต้องให้บอร์ดพิจารณาเงื่อนไขในต้นเดือนหน้า และต้องทำความเข้าใจกับสหภาพฯ ก่อน “กฟผ.” ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญ ยันกฎหมายไม่เอื้อให้เข้าประมูล
นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ปฏิเสธกระแสข่าว กปน.ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเงินไปจ่ายในโครงการจำนำข้าว ยันไม่เป็นความจริง และไม่ได้เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
นายธนศักดิ์ยอมรับว่า ตนเองได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากกระทรวงการคลังเพื่อให้เข้าร่วมในการประมูลซื้อตั๋วเงินดังกล่าวจริง แต่ต้องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กปน.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2557 นี้
ทั้งนี้ กปน.มีสภาพคล่องประมาณ 4,000 ล้านบาท หากจะช่วยซื้อก็ทำได้ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท และจะต้องได้รับดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ร้อยละ 3 ต่อปี รวมทั้งจะต้องชี้แจงกับสหภาพแรงงาน กปน.ที่ไม่เห็นด้วยให้เข้าใจก่อน
โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ พนักงานของ กปน.ได้พร้อมใจกันแต่งชุดดำเพื่อแสดงการต่อต้านแนวคิดการนำสภาพคล่องของ กปน.ไปซื้อตั๋วพีเอ็นโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จนถึงวานนี้ (25 ก.พ) ตนยังไม่เห็นหนังสือจากกระทรวงการคลังเรื่องการเชิญชวนประมูลตั๋วพีเอ็นเพื่อนำไปใช้จ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว หากหนังสือมาถึงต้องขอดูในรายละเอียดก่อน โดยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของ กฟผ.ไม่สามารถให้กู้เงินเป็นการทั่วไปได้ และการเข้าไปลงทุนซื้อตราสารต่างๆ จะต้องมีโครงการรองรับ และเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าเท่านั้น
นอกจากนี้ จากปัญหาทางการเมืองทำให้ กฟผ.ไม่สามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกจำหน่ายกองทุนสาธารณูปโภค 17,000 ล้านบาทได้ ทำให้ กฟผ.ต้องนำสภาพคล่องของ กฟผ.มาใช้สำหรับการลงทุนที่มีแผนลงทุนรวมปีนี้ 39,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กฟผ.จำเป็นต้องใช้เงินแต่ละเดือนในการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และจ่ายค่าเชื้อเพลิง 40,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.มีสภาพคล่องที่ฝากเงินระยะสั้นในธนาคารออมสิน และที่ ธ.ก.ส.ประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยตามระเบียบของกระทรวงการคลัง คือต้องให้ธนาคารของรัฐเสนอประมูลดอกเบี้ย หากธนาคารใดให้ดอกเบี้ยสูงสุดก็นำไปฝากธนาคารดังกล่าว
ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าจะเข้าประมูลหรือไม่ ขณะที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ออกมาคัดค้านการนำสภาพคล่องของทีโอทีเข้าไปซื้อตั๋วพีเอ็นโครงการจำนำข้าวเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงหลักเกณฑ์และแนวทางการเข้าร่วมประมูลตั๋วพีเอ็น วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 8 เดือน โดยกำหนดวันยื่นซองเสนออัตราดอกเบี้ยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ ซึ่งกระทรวงการคลังมีความประสงค์จะจัดหาเงินกู้ให้แก่ ธ.ก.ส.ตามมติ ครม.ที่ได้อนุมัติไว้แล้ว โดยวิธีการกู้เงินแบบพีเอ็น ซึ่งกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย และรัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ย
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องการเชิญรัฐวิสาหกิจประมูลตั๋วพีเอ็นดังกล่าว โดยระบุ 10 ข้อที่รองผู้อำนวยการ สบน.ต้องเตรียมคำตอบ เช่น การดำเนินการกรณีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงการเลือกตั้ง การดำเนินการมิได้เป็นไปตามครรลองปกติของการกู้ยืมเงินของกระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจที่เข้าประมูลไม่ได้ทำธุรกิจสถาบันการเงิน มีรายใดเชี่ยวชาญตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้เช่นเดียวกับ Primary Dealers หรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยที่จะตกเป็นภาระของรัฐเป็นอัตราที่ต่ำสุดตามสภาพตลาดหรือไม่