xs
xsm
sm
md
lg

ส.ตลาดตราสารหนี้ชี้ “ยิ่งลักษณ์” ออกพันธบัตรอุ้มจำนำข้าวมีปัญหาแน่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มั่นใจพันธบัตรภาครัฐยังเติบโตได้ แม้ความเชื่อมั่นของภาคประชาชนตกต่ำ แต่หากรัฐคิดจะออกพันธบัตรเพื่ออุ้มจำนำข้าวไม่เป็นผลดีแน่ เพราะผิดกฎหมาย ขณะที่มองการเมือง คาดจบไม่เกิน 3 เดือนนี้ เพราะ 4 ปัจจัยหลัก เผยภาคส่งออกกระทบหนัก เงินบาทอ่อนไม่ช่วย เพราะคู่ค้าไม่เชื่อมั่นจนไม่ให้ออเดอร์ แถมรัฐบาลรักษาการก็มีข้อเสีย คือก่อหนี้ผูกพันไม่ได้ เป็นปัญหาต่อภาคเศรษฐกิจยาว

ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ดูท่าจะจบไม่ได้ง่ายๆ เพราะไม่ว่าฝ่ายการเมืองจะกดดันนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ออกจากอำนาจอย่างไร ก็ไม่เป็นผล กล่าวได้ว่า รัฐบาลรักษาการไม่ได้สนใจแรงบีบจากภาคประชาชนมากนัก หรือจิตสำนึกในความรับผิดชอบทางการเมืองมีน้อยลง

แต่ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานนั้น อย่าลืมว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างมากด้วย โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีภาวะตกต่ำอย่างมากมาหลายเดือน หรือแม้ตลาดรองอย่างสมาคมตราสารหนี้ไทยเองนั้น ก็ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากการเมืองไม่น้อย

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองนั้น ทำให้เอกชนที่มีแผนจะออกตราสารหนี้ต้องชะลอออกไป และในส่วนของนักลงทุนต่างชาติมียอดเงินไหลออกไปแล้วประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท

“สัดส่วนตราสารหนี้ที่ลงทุนยาว มียอดขายสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท ตัวสั้นซื้อสุทธิ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท ยอดซื้อ-ขายจึงเท่ากับไหลออกไปประมาณ 6-7 พันล้าน และจากการไถ่ถอนตราสารที่ครบอายุ 1 หมื่นล้านบาท”

แต่ในส่วนนี้คิดว่าเป็นผลกระทบจากการลดขนาดมาตรการ QE มากกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ด้วย ซึ่งตอนนี้ช่วงเดือน ก.พ.สถานการณ์เริ่มดีขึ้น คือไม่มีเงินไหลออกจำนวนมากแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมองว่ามีโอกาสเช่นกันที่จะถูกลดเครดิตลงจาก International rating โดยอาจจะมีผลในทางลบต่อการปรับเครดิตจากทริปเปิล B (BBB) ลงมาได้จากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ดังนั้นจึงมองว่าปัญหาทางการเมืองน่าจะจบลงภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ไป

“ปัญหาการเมืองเริ่มตั้งแต่ช่วง 30 ตุลาคม 2555 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่ายาวนานมากแล้ว ปล่อยให้ยาวนานมากกว่านี้ไปไม่ได้ เศรษฐกิจจะพัง”

4 ปัจจัยบีบการเมืองต้องจบภายใน 3 เดือน

โดยเฉพาะปัญหาใน 4 ประการ

1. รัฐในฐานะรักษาการไม่สามารถก่อภาระผูกพันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานภาคเศรษฐกิจโดยตรง

2. ประชาชนขาดความเชื่อมั่น การบริโภคจะลดลงไปอีก

3. นักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนต่อไปอีก

4. การส่งออกจะเสียหายมาก แม้ว่าค่าเงินจะอ่อนค่าลง แต่เรื่องของการส่งออกนั้น จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของผู้สั่งซื้อสินค้าโดยตรงมากกว่า คือการที่เขาไม่เชื่อมั่นกับสถานการณ์การเมืองของไทย จะทำให้คำสั่งซื้อสินค้าน้อยลง เพราะขาดความมั่นใจ จุดนี้จึงต้องระวังว่าไม่ใช่ค่าเงินอ่อนแล้วการส่งออกจะดีขึ้น

“ในอดีตมีกรณีของต่างประเทศอยู่ 2-3 ประเทศ ที่รัฐบาลยื้อรักษาการเป็นปี แต่เศรษฐกิจจะแย่มาก”

ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ปัญหาการเมืองยืดเยื้อยาวนาน!

“ในทุกรอบของการเมืองที่มีปัญหาอึมครึม จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา แต่เมื่อไรที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ ในส่วนของภาคการลงทุนจะมีอัตราการเติบโตที่ดีมากในทุกครั้ง ครั้งนี้ก็มองว่าจะเป็นเช่นนั้น จึงคิดว่าอีกประมาณ 3 เดือนน่าจะเข้าที่ได้ทุกอย่าง”

สำหรับในส่วนของตลาดรองอย่างสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) นั้น
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า หลังวิกฤตทางการเมืองจบลง คาดว่าบรรยากาศการลงทุนจะกลับมาเป็นปกติ โดยพฤติกรรมของประชาชนในส่วนของการลงทุนจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ก็จะลงทุนด้วยการเล่นหุ้น ส่วนนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเลย ก็จะลงทุนตราสารหนี้อยู่แล้ว โดยซื้อกับกองทุนต่างๆ ที่สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์มา

“สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์ของภาคเอกชน จะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อดึงดูดประชาชนมาซื้อกองทุนมากขึ้น เช่น กองทุนแบบทริกเกอร์ฟันด์ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ระวังว่าจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นอย่างดีว่าการลงทุนแบบนี้ต้องเป็นการลงทุนระยะ 1 ปีขึ้นไป”

ยัน พธบ.รัฐบาลยังไม่กระทบ-เว้นรัฐอุ้มจำนำข้าว

สำหรับความเชื่อมั่นภาคประชาชนต่อพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล จะมีผลกระทบด้วยหรือไม่นั้น นายนิวัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลจะยังคงเป็นตลาดที่มีผู้ลงทุนต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการออกตราสารหนี้ในส่วนของรัฐบาลในปี 2557 ก็คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 440,000 ล้านบาท

ยกเว้นแต่ตราสารหนี้ตัวไหนที่ออกมาเพื่อวัตถุประสงค์เอาเงินไปหมุนในโครงการรับจำนำข้าว ที่จะมีปัญหาอย่างแน่นอน

“พันธบัตรรัฐบาลทั่วไป ผมคิดว่าไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาแน่ ถ้าพันธบัตรตัวนั้นออกมาเพื่อเอาเงินไปโปะจำนำข้าว”

คือเป็นเรื่องทางกฎหมาย เพราะการออกพันธบัตรนั้นจะติดข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) คือไม่ให้สร้างภาระผูกพัน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็จะอยู่ที่การตีความว่า อนุมัติตอนไหน อนุมัติก่อนที่จะยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 หรือไม่ หรืออนุมัติหลังจากวันยุบสภาแล้ว ดังนั้นในส่วนนี้อาจจะได้แค่ใบประทวนที่ออกให้ชาวนาก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกตีความว่ามีความผิดทางกฎหมายอยู่ดี

“พันธบัตรรัฐบาลยังไปได้ คนกลัวแค่เอาไปจำนำข้าว ถ้าไม่เอาไปจำนำข้าวก็ไม่มีปัญหา และเชื่อว่าการหมกเม็ดในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลจะทำได้ไม่ง่ายนัก เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น รัฐจะต้องอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน หมดเม็ดยาก”

ดังนั้น ตลาดตราสารหนี้ มองอนาคตแล้วยังสดใส โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ปี 2557 นี้คาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนประมาณ 400,000-420,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รีไฟแนนซ์ 2.4 แสนล้าน ออกใหม่เพิ่มเติม 1.6 แสนล้าน โดยกลุ่มหลักๆ จะอยู่ที่กลุ่มพลังงาน, การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ และจะมีภาคเอกชนที่เข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น

โดยปีที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากภาคเอกชนแล้ว โดยมีผู้เข้ามาเล่นใหม่ 14 ราย ได้แก่ BCH, SYNTEC, TPIPL, AREEYA, BMUL, SLL, MJD, ANAN, TFD, OISHI, TTL, CI, WHA, CPALL

แสดงให้เห็นแนวโน้มว่า ภาคเอกชนสนใจที่จะมาเล่นตลาดตราสารหนี้มากขึ้น

“ภาคเอกชนหันมาสนใจ คือเริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ข้อดีคือดอกเบี้ยถูกกว่ากู้แบงก์”

คาดปีนี้จะมีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก

เตรียมแผนรองรับปรับตลาดรองลงทุน

อย่างไรก็ดี สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยก็กำลังจะมีแผนรองรับในการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะบทบาทในฐานะ SRO ที่มีแนวคิดของการดูแลสมาชิกด้วยกันเอง โดยทุกวันนี้ตลาดตราสารหนี้จะทำหน้าที่ 2 ภารกิจใหญ่คือ การออกกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ โดยจะมีการสร้างกติกา, ตรวจสอบ และการลงโทษ อีกภารกิจคือดูแลสมาชิกด้วยกันเอง ดังนั้นในปีนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้มีแผนที่จะแยกคณะกรรมการ (บอร์ด) ออกเป็น 2 ชุด

ชุดแรกยังเป็นบอร์ดชุดเดิม ส่วนบอร์ดชุดใหม่ จะมีคณะกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย กรรมการผู้จัดการสมาคมตราสารหนี้ไทย 1 คน ตัวแทนคณะกรรมการชุดใหญ่ (สมาชิก) 3 คน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 1 คน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 1 คน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ส่วนคณะกรรมการชุดใหญ่เดิม ประกอบด้วย กรรมการ 11 คน มีหน้าที่ดูแลพัฒนาตลาดตราสารหนี้ วิธีการซื้อขาย ออกตราสาร กำหนดหลักเกณฑ์ของตลาด

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเป็น SRO (Self Regulatory Organization) ประเภท dependence เหมือนตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะเป็นผู้ให้บริการด้วย คือให้บริการบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลาย ต้องมีกฎ กติกา ถ้ามีปัญหารัฐก็ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ SRO ดี เป็นคนปฏิบัติเองด้วย ดังนั้นสมาคมตราสารหนี้ไทยจึงทำงานให้สมาชิกได้ประโยชน์ด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องกำกับดูแลตามกฎกติกา หน้าที่ 2 อย่างนี้ถ้าแยกออกจากกันได้ จะทำให้มีความโปร่งใสในการดำเนินงานมาก”

โดยการเพิ่มบทบาทของสมาคมเป็น SRO นี้ ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ได้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ ในบทบาทของ The Korea Financial Investment Association (KOFIA) ในฐานะ SRO ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลสมาชิก ออกกฎระเบียบต่างๆ กระบวนการกำกับดูแล มีระบบให้ความเป็นธรรมกับสมาชิก ซึ่งเป็นระบบที่ดีมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น