xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์กู้เงินโปะจำนำข้าวแบบใหม่ รัฐวิสาหกิจทั้งหลายเตรียมตัวซวย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกแล้ว!! ประชาชนเขาอยู่กันดีๆ สร้างประเด็นให้คนเขาต้องออกมารวมตัวประท้วงกันอีกแล้ว!! หลังปรากฏการณ์แห่ปิดบัญชีธนาคารออมสิน ดูเหมือนรัฐบาลจะยังไม่เข็ด ล่าสุด หาเรื่องกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีการใหม่เพื่อหาเงินไปอุดปัญหาจำนำข้าว โชคดีที่ไม่มีรัฐวิสาหกิจรายใดหลงกล เพราะไหวตัวทันว่าอาจโดนข้อหา “สมรู้ร่วมคิดทำผิดกฎหมาย” ในอนาคต!!




“พลังเสื้อดำ” คัดค้านกู้เงินไม่ชอบธรรม!
ความพยายามครั้งใหม่ของรัฐบาลรักษาการชุดนี้ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนตาดำๆ ต้องออกมารวมตัวกันประท้วงอีกครั้ง หลังข่าวหลุดออกมาว่า กระทรวงการคลังได้เชิญชวนให้ การประปานครหลวง (กปน.) ร่วมประมูลซื้อ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น)” ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงรัฐวิสาหกิจอีกหลายราย เพราะต้องการรวบรวมเงินไปโปะปัญหาจำนำข้าวที่ยังคงยุ่งเหยิงเรื้อรัง

เดชะบุญ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง (สร.กปน.) รู้ทัน พากันออกมาสวม “เสื้อดำ” แสดงพลังคัดค้าน กระทั่งผู้ว่าการการประปานครหลวงต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมอย่างเร่งด่วนและออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่า “จะไม่เข้าร่วมการประมูลอย่างแน่นอน”

และนี่คือเหตุผลประกอบจุดยืนอันหนักแน่นที่สหภาพแรงงานฯ ได้ให้ไว้ เพื่อคัดค้านการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของการประปานครหลวงในครั้งนี้

1. จะส่งผลกระทบทางด้านการเงินเกี่ยวกับสภาพคล่องในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การชำระหนี้ครบกำหนดตามสัญญาต่างๆ เงินรายได้นำส่งกระทรวงการคลังตามหลักเกณฑ์ แผนการใช้เงินเร่งด่วนเพื่อแก้ไขวิกฤตต่างๆ และอื่นๆ

2. จะนำพาองค์กรเข้าไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความร้อนแรงอยู่ในขณะนี้โดยไม่สมควร ในสถานะที่ กปน. เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องให้บริการประชาชนตามภาระหน้าที่ ถึงแม้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล แต่ก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะ กปน. เป็นบริการทางสาธารณะที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่สามารถให้การสนับสนุนเพื่อการอื่นใดอันอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อองค์กรได้

3. การนำเงินไปให้ ธ.ก.ส. กู้ในครั้งนี้ กระทำไปโดยเร่งด่วนตามใบสั่ง โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ทางการเงิน ศึกษาข้อกฎหมาย และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ผู้ว่าการสั่งการให้ดำเนินการได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สร.กปน. จึงขอให้ กปน. ยุติการเข้าประมูลซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้

บอกได้เลยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลนี้พยายามแก้ปัญหาจำนำข้าวแล้วสร้างความเดือดร้อนไปทั้งแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงไม่เข็ดกับการหาทางออกแบบผิดๆ ตั้งแต่กรณี “ธนาคารออมสิน” ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ นี่เอง เอาเงินไปปล่อยกู้ให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างหน้าตาเฉย ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่แคร์ประชาชน-เจ้าของเงินแต่อย่างใด จนทำให้ลูกค้าทุกเพศทุกวัยต้องแห่มาถอนเงิน-ปิดบัญชีกันให้วุ่นวาย จนธนาคารแทบเจ๊ง จึงยอมยกเลิกความคิดหลงผิดครั้งนั้นไป

มาครั้งนี้ ประเทศชาติก็รอดมาได้อีกหนึ่งยก หลังมีคำสั่งลงมา ให้รัฐวิสาหกิจร่วมประมูลซื้อ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” ต้องขอบคุณ “พลังคนเสื้อดำ” ในครั้งนี้จริงๆ ที่เข้ามาช่วยห้ามทัพ มิเช่นนั้น “หายนะ” ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม!




ระวัง! โทษสมรู้ร่วมคิด
แค่รัฐวิสาหกิจจะตัดสินใจซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน จะเกิดอะไรร้ายแรงขนาดที่เรียกได้ว่า “หายนะ” เชียวหรือ? คำตอบคือ ผลของมันอาจไม่ร้ายแรงตอนนี้ แต่จะกลายเป็นหายนะของประเทศชาติในอนาคตได้แน่นอน เพราะถ้ามีรัฐวิสาหกิจรายไหนประมูลซื้อไปแม้แต่รายเดียว ก็จะถือว่าเข้าข่าย “สมรู้ร่วมคิด” ทำผิดกฎหมายไปพร้อมๆ กระทรวงการคลัง

“ตราสารหนี้ตรงนี้มันก็มีปัญหาอยู่ที่ว่ากระทรวงการคลังต้องเข้ามาค้ำประกัน เหมือนตราสารหนี้ทั่วๆ ไป กู้เงินแล้วก็เอาใบๆ นึงให้ไว้ รัฐบาลเอาเงินไป รัฐวิสาหกิจที่ประมูลก็จะได้ใบตราสารกลับมา และรัฐบาลก็ต้องเข้ามาค้ำประกัน จึงถือเป็นการเพิ่มหนี้ใหม่ ซึ่งขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญนะ เพราะเขาห้ามไม่ให้คณะรัฐมนตรีก่อหนี้ให้เป็นภาระแก่รัฐบาลชุดใหม่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ด้วย ยิ่งก่อหนี้ไม่ได้ใหญ่เลย ถึงจะขออนุญาตสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น รัฐวิสาหกิจก็ต้องระวังให้ดี เพราะถ้าไปประมูลซื้อมาแล้วตราสารหนี้มันมีปัญหา ก็ต้องเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นแน่นอน ฟ้องว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ ไอ้ตราสารหนี้ตัวนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเช็คเด้ง กลายเป็นกระดาษแลกเงินไม่ได้ แต่ผลของมันจะยิ่งกว่าเช็คเด้งอีก เพราะคนที่ประมูลซื้อมาจะโดนคดีอื่นด้วย คือร่วมกันทำผิดทางนิติกรรมทั้งที่รู้อยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่ามันผิดรัฐธรรมนูญดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ช่วยวิเคราะห์อย่างถึงลูกถึงคน

หากไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์-การลงทุนโดยตรง อาจจะยังงงๆ อยู่ว่า “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” หรือที่เรียกว่า “พี/เอ็น (Promissory Note)” ซึ่งออกมาจาก ธ.ก.ส. มีความสำคัญอย่างไร พูดกันตามภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายขึ้น “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” มันก็คือ “การกู้ยืม” อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งออกหนังสือ ให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะใช้เงินคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด

และในครั้งนี้ รัฐบาลออกตั๋วสัญญาใช้เงินในระดับสูงถึง 80,000 ล้านบาท โดยหวังว่าจะมีผู้ลงทุนรายใดก็ได้มาแบ่งซื้อ-ร่วมประมูลกันไป ซึ่งรายนามที่แว่วมาว่าถูกทาบทามไปแล้วก็มี สำนักงานประกันสังคม, บริษัท ท่าอากาศยานไทย (จำกัด), กองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กปข.), กองทุนวายุภักษ์ และ การประปานครหลวง (กปน.) ฯลฯ แต่สุดท้าย ก็ไม่มีหนึ่งในรายชื่อรายใดกล้าเอาตัวเข้าไปพัวพัน แม้จะให้ดอกเบี้ยสูงถึง 60 สตางค์ต่อเดือนก็ตาม

ถ้ามีคนมาประมูลตั๋วสัญญาใช้เงินตัวนี้ตามเป้าที่วางไว้ เมื่อนำไปรวมกับอีก 20,000 ล้านบาทที่กระทรวงการคลังจะออกมาเป็น “พันธบัตรออมทรัพย์” รัฐบาลก็จะมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้โครงการจำนำข้าว ซึ่งติดค้างใบประทวนเอาไว้เป็นจำนวนกว่า 1.2 แสนล้านบาท!! แต่เผอิญว่าทุกอย่างมันดันไม่เป็นไปตามแพลนที่วางเอาไว้...

“เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับรัฐวิสาหกิจในขณะนี้ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น คนรับผิดชอบไม่ใช่แค่ประธานบอร์ด ทั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจต้องรับผิดชอบร่วมกัน ผลออกมาว่าผิดรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกฟ้องร่วมกัน ในส่วนของการประปานครหลวง สภาพคล่องมันมีแค่ 4,000 ล้านบาท แล้วเอาเงินไปซื้อตราสาร 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตราสารที่อาจจะมีปัญหา ผมว่าใครมีเงินขนาดนี้ก็คงไม่ค่อยรอบคอบเท่าไหร่มั้ง ถ้าจะเอาเงิน 1 ใน 4 ของสภาพคล่องไปใช้

ผมเข้าใจว่าทุกรัฐวิสาหกิจที่มีเงินคงถูกทาบทามหมดนั่นแหละครับ แต่ ปตท.เขาไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เขาเป็นบริษัท (จำกัด) เลยปฏิเสธได้ ทางการบินไทยเอง ถ้าปีนี้บริหารไม่ขาดทุน คงโดนให้เอามาซื้อเหมือนกัน ถ้าผมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจของที่นั่น ผมก็คงดีใจที่มีคนมาช่วยประท้วงนะ (หัวเราะ)




ง่ายแสนง่าย แค่ขายข้าว
ไม่ใช่ว่าอยากซ้ำเติมรัฐบาล ไม่ใช่ว่าไม่สงสารชาวนา แต่ต้องเข้าใจว่าถ้าจะให้เชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา ประเทศทั้งประเทศก็มีแต่พังกับพัง ลองวางใจเป็นกลางแล้วคิดว่าตัวเองเป็นประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจสักแห่งที่มีกำลังเงินพอจะซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินดู ก็ยังได้คำตอบว่า “ไม่สนับสนุน” เป็นทางออกที่ดีที่สุด ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์-การลงทุน ยังคงยืนยันหนักแน่น

“ถ้าผมเป็นประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ผมก็ต้องดูความรับผิดชอบของผม หน้าที่ของผมคือดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ให้อยู่รอดปลอดภัยและอยู่ดีด้วย เพราะฉะนั้น เรามีเงิน เราก็ต้องดูแลผลประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำอย่างถูกต้อง สร้างความมั่นใจกับประชาชน

ชาวนาผมก็เห็นใจ รัฐบาลผมก็เห็นใจ แต่ผมต้องทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของผมก่อน คือถ้าผมมัวแต่ไปเห็นใจ ไม่ทำตามหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องเป็นปัญหาแน่นอนเลย คือถ้ามัวแต่มองคนอื่นโดยไม่ได้ดูสถานการณ์ความมั่นคงทางการเงินของตัวเอง ตัวเองก็เดือดร้อน เพราะไม่ได้ทำตามหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ

ที่พนักงานของรัฐวิสาหกิจเขารวมตัวกันออกมาต่อต้าน ก็ถือว่าเขามองเห็นว่ามันเป็นปัญหานะ เพราะถ้าเงินมันสูญหายไป เขาก็มีปัญหาต่อการจ้างงานของเขา มีปัญหาต่อโบนัสที่ควรจะได้ ถือว่าเขย่าความมั่นคงทางการจ้างงานของเขา ผมว่าเขาก็มีเหตุมีผลที่ออกมาประท้วงนะ โลกสมัยนี้ มันไม่ได้หมายความว่ารัฐวิสาหกิจหมายถึงแค่ผู้บริหารกับกรรมการบอร์ดนะครับ สมัยนี้ ความหมายรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีสิทธิมีเสียงที่จะแสดงความคิดเห็น

การแก้ปัญหาของรัฐบาลตั้งแต่ติดตามผลงานมา โดยเฉพาะเรื่องโครงการจำนำข้าว บอกได้เลยว่าไม่ต่างไปจาก “ลิงแก้แห” คือแก้ตรงนี้ แล้วก็ไปสร้างปมใหม่อีกตรงนั้น ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆ ที่มีวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดอยู่แล้วแต่ไม่ทำ เพราะมัวแต่ถือทิฐิ วิธีนั้นก็คือ “การขายข้าว”

“ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการเอาข้าวไปขายแล้วเอาเงินมาใช้นะ ดีกว่ามาให้กู้แบบนี้ เพราะข้าวมันไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ระบายของที่มีอยู่และได้เงินมาทันที แต่มามัวแต่กู้แบบนี้ ต้องมาเสียทั้งดอกเบี้ยด้วย เสียทั้งค่าส่งหุ้นในการออกพันธบัตรด้วย ขายข้าวน่าจะเป็นของที่ดีที่สุดครับ

ขายขาดทุนก็ต้องยอมรับ มันไม่มีทางเลือก และตอนนี้ คนก็จับตามองอยู่ว่าขายขาดทุนหรือเปล่า แต่เมื่อก่อนก็ขายขาดทุน แต่ไม่มีใครรู้ไง เพราะข้อมูลไม่เปิดเผย แต่ตอนนี้รู้หมด พูดถึงเรื่องขายข้าวก็มีปัญหาอีก เพราะตอนนี้มันไปกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ทางอินโดนีเซียเขาก็ออกมาบอกว่าไปดัมป์ราคาเขา เพราะถ้าไม่ดัมป์ราคาก็ขายไม่ออก และตอนนี้เกษตรกรก็ลำบาก จะทำนาฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมา แต่ไม่มีเงิน”

ลองขายข้าวไปด้วย ผนวกกับวิธีที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เสนอแนะแนวเอาไว้ด้วยก็ได้ คือให้เอาใบประทวนของชาวนาไปทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ คือเอาไปค้ำประกันแล้วกู้เงินมา แล้วรัฐบาลก็จ่ายดอกเบี้ยให้ ซึ่งใบประทวนดังกล่าวเป็นใบประทวนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการยุบสภา จึงไม่มีปัญหาเรื่องการกู้ยืมที่ผิดกฎหมาย เพราะมันเป็นภาระหนี้ที่มีมาแล้วแต่เดิม

“แต่รัฐบาลก็อาจจะไม่อยากทำตามคำแนะนำนี้เท่าไหร่ คล้ายๆ กับว่ามีคนบอกทางนี้แล้ว ก็เลยจะทำอีกทางนึง เพราะถ้าทำตามจะเสียเหลี่ยม ผมมองอย่างนั้นนะ เพราะวิธีการที่ ดร.นิพนธ์ เสนอ จริงๆ แล้วทำได้ง่ายมากเลย เขาเสนอมาตั้งนานแล้วว่าให้ทำพร้อมๆ กับขายข้าว แต่รัฐบาลก็ไม่อยากจะขายข้าวอีก เพราะกลัวว่าเดี๋ยวราคาข้าวมันจะตก ก็จะโดนกล่าวหาว่าราคาต่ำกว่าที่จำนำ ซึ่งก็คงเห็นกันชัดเจนอยู่แล้ว รัฐบาลเลยไม่อยากทำ พอไม่อยากทำ ก็ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง

ทางรัฐบาลรักษาการก็รู้ว่าถ้าค้ำประกันตอนนี้ ต้องเสร็จแน่นอน แต่เขาก็ถือว่า จะเสร็จตอนนี้เพราะชาวนา หรือจะเสร็จตอนหน้าเพราะโดนศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานในอนาคต เขาก็เลยขอเป็นเสร็จรอบหน้าดีกว่า (หัวเราะ) เอาเงินมาให้เกษตรกรก่อนดีกว่า แต่พอไปหาเงินกู้ก็หาไม่ได้อีก เพราะทางเอกชนเขาก็ให้กู้ไม่ได้ เขาไม่มีเงินพอจะซื้อพันธบัตร ก็เลยต้องหันมาบีบรัฐวิสาหกิจ พอบีบรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจก็ดิ้นหมด เพราะเขาก็กลัวติดคุกเหมือนกัน เลยกลายเป็นเกมที่ทุกคนต้องดูแลตัวเองให้รอด เป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้ แก้ตรงนู้นแล้วพันตรงนี้ไปเรื่อย” ดร.วราภรณ์กล่าว

แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะแก้แหจนไปสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติอีกสักกี่ปม อย่างน้อยครั้งนี้ ก็ขอให้ตั้งสติตรึกตรองดูให้ดีก่อน เพราะถ้าผิดพลาดครั้งนี้ มันหมายถึงความน่าเชื่อถือของ “กระทรวงการคลัง” ที่จะวายวอดไปด้วยแบบกู่ไม่กลับ

“กระทรวงการคลังมันมีประเพณีมาเกือบ 100 ปีแล้ว เป็นกระทรวงที่ต้องมาดูแลธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย กระทรวงการคลังของทุกประเทศในโลกก็ต้องอยู่บนความน่าเชื่อถือ ต้องอยู่บนความถูกต้อง ถ้ากระทรวงการคลังมาทำผิดกฎหมายซะเอง แล้วใครจะมาเชื่อถือกันล่ะครับ

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


สหภาพแรงงานฯ คัดค้าน

แถลงการณ์ สหภาพแรงงานฯ







กำลังโหลดความคิดเห็น