แฉ "กปน.-ทอท.-ทีโอที" เป็น 3 ใน 5 รัฐวิสหกิจแหกด่านกฎหมายให้กู้รับจำนำข้าว ยื่นซองประมูลตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วพีเอ็น ธ.ก.ส. ตั้งแต่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่บอร์ด ธ.ก.ส.มีมติตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาโดยเปิดบัญชีเงินฝาก "เงินบริจาครวมน้ำใจ ช่วยชาวนาไทย" ด้าน "ปู"เบี้ยวนัดรับทราบข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว "นิคม" ชี้ขั้นตอนถอด "ยิ่งลักษณ์" หากป.ป.ช.ชี้มูล คดีทุจริตจำนำข้าว อาจติดปมองค์ประชุมส.ว. หลวงปู่พุทธะอิสระ นำชาวนาบุกทวงถามความชัดเจนจากอัยการสูงสุด คดี "ยิ่งลักษณ์" ทุจริตจำนำข้าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การยื่นซองประมูลตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วพีเอ็นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้ดำเนินการและออกหนังสือชี้ชวนไปยังรัฐวิสาหกิจทุกแห่งให้เข้าร่วมเสนออัตราดอกเบี้ย โดยกำหนดวงเงินงวดแรก 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 8 เดือนนั้น ปรากฎว่ามีรัฐวิสาหกิจจำนวนประมาณ 5 แห่งที่เข้ามายื่นซองเสนออัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากในหนังสือชี้ชวนกำหนดปิดรับซองเวลา 10.00 น.ของวันที่ 27 ก.พ. ทำให้ในวันนี้ไม่พบว่ามีรัฐวิสาหกิจมายื่นเสนอเพิ่มเติมอีก
"วิสาหกิจที่มายื่นซองนั้นมีการประปานครหลวง (กปน.) ที่มีกระแสข่าวออกไปก่อนหน้านี้ว่าคณะกรรมการ กปน.ได้มีการอนุมัติวงเงินลงทุนตั๋วพีเอ็นไว้ 1,000 ล้านบาท และยังมีบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มีกระแสข่าวว่าบอร์ดเตรียมวงเงินให้กระทรวงการคลังกู้ 4 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้ รวมถึงบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) "
ธ.ก.ส.ตั้ง 3 กองทุนช่วยชาวนา
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์มีมติเห็นชอบให้ธ.ก.ส.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนา โดยการรับบริจาคจากผู้ประสงค์บริจาคช่วยเหลือชาวนา ด้วยการเปิดบัญชีเงินฝาก "เงินบริจาครวมน้ำใจ ช่วยชาวนาไทย" เพื่อระดมทุนสมทบกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนา หลังจากฝ่ายบริหารไปศึกษาแนวทางทั้งหมดชัดเจนแล้วว่าไม่ขัดกับระเบียบกฎหมายของ ธ.ก.ส.
จึงเปิดให้ประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือชาวนา ส่งเงินเข้าสมทบกองทุนใน 3 รูปแบบ คือ 1.การบริจากโโยโอนเข้าบัญชี"กองทุนช่วยเหลือชาวนา (เงินบริจาค)" ได้ตามจำนวนที่ผู้ประสงค์ต้องการบริจาค 2.การสมทบเงิน"กองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบไม่มีผลตอบแทน) โดยไม่จำกัดจำนวนที่สมทบ แต่ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 พันบาท และ 3. การสมทบเงิน"กองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบมีผลตอบแทน)" ซึ่งไม่จำกัดจำนวน แต่สมทบไม่ต่ำกว่า 1 พันบาทเช่นกัน โดยกองทุนจะให้ผลตอบแทน 0.63% ต่อปี ทั้งนี้เพื่อนำเงินทั้งสามส่วนช่วยจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับเกษตรกรที่ค้างใบประทวน
ทั้งนี้ การสมทบเงินตามแนวทางที่ 2 และ 3 ธ.ก.ส.จะออกหลักฐานที่เรียกว่า "ใบสมทบเงินกองทุน" ให้กับผู้สมทบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับเงินคืนตามเงื่อนไขเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยกองทุนจะเริ่มเปิดรับเงินบริจาคและเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม - 30 มิถุนายนนี้ สิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท และเมื่อได้รับเงิน กองทุนจะจัดสรรเงินดังกล่าวให้กับธ.ก.ส. เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรตามมูลค่าข้าวในใบประทวน โดยเรียงตามลำดับที่ขึ้นทะเบียนไว้กับธ.ก.ส. โดยที่กองทุนดังกล่าวจะแยกจากบัญชีปกติของธ.ก.ส.
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ในระหว่างที่ลูกค้ารอเงินจำนำข้าว ธ.ก.ส.ได้ยืดเวลาการชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ออกไปอีก 6 เดือนและสนบัสนุนเงินกู้ เพื่อนำไปลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลใหม่ หรือเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จำเป็น โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี หรือ 0.583% ต่อเดือน เพื่อลดปัยหาการกู้เงินนอกระบบ ส่วนเกษตรกรที่เป้นลูกหนี้สถาบันเกษตรกร ธ.ก.ส.จะให้ความช่วยเหลือผ่านระบบของสหกรณ์นั้นๆต่อไป
แหล่งข่าวจาก หลังจากการเปิดรับจำนำข้าว ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รับจำนำข้าวจากชาวนาด้วยการออกใบประทวนไปแล้ว จำนวน 10.97 ล้านตัน เป็นเงิน 181,000 ล้านบาท แต่ ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกรไปแล้วในปัจจุบัน 69,000 ล้านบาท นับว่าขณะนี้ได้ทะยอยจ่ายคืนให้เกษตรกรได้รเร็วมากในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กระทรวงพาณชิย์ได้เร่งระบายข้าว้ดวยการเปิดประมูลทั่วไทย และประมูลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยเฉพาะการส่งเงินข้ามาให้ ธ.ก.ส.ในเดือน ก.พ. นี้ มีจำนวน 8,000 ล้านบาท ส่วนเดือนมกราคมนำส่งได้ 10,000 ล้านบาท
ปูเบี้ยวรับทราบข้อหาโกงข้าว
จากกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่าบริหารราชการผิดพลาด และปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยนัดให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 27 ก.พ.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (27ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ไปปฏิบัติภารกิจที่จ.เชียงใหม่ โดยกล่าวถึงกำหนดนัดรับทราบข้อกล่าวหาว่า ได้สอบถามที่ปรึกษากฎหมายแล้ว ตามระเบียบสามารถส่งตัวแทนไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ โดยมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแทน จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการชี้แจง ซึ่งตามข้อกฎหมายนายกฯ จะต้องชี้แจงภายในวันที่ 14 มี.ค. 2557
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณประตูทางเข้าออกสำนักงานป.ป.ช. กลุ่มผู้ชุมนุมกวป.- นปช.นนทบุรี ได้นำหินและทรายมาเทกองรวมกัน พร้อมถุงปูน อิฐบล๊อก จำนวนมาก มาวางรวมกันไว้ที่บริเวณหน้าประตู 3 สำนักงานป.ป.ช. ด้านที่ติดกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเตรียมผสมและก่อกำแพงปิดขวางประตูทางเข้าออกสำนักงานป.ป.ช.
ชี้ถอดถอน"ปู"อาจติดปัญหาองค์ประชุม
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมรตรี หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ในคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวว่า มีขั้นตอนกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 อยู่แล้ว แต่มีประเด็นปัญหาอยู่ที่องค์ประชุมวุฒิสภา เพราะขณะนี้ มี ส.ว. เลือกตั้งบางส่วน ลาออกไป ทำให้สมาชิกเหลือมีทั้งสิ้น 144 คน และยังมีสมาชิกอีก 40 คนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากถูกชี้มูลความผิด กรณีการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แม้จะถูกชี้มูลก็ยังต้องมีการนับองค์ประชุมด้วย เพียงแต่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ แต่การจะทำการถอดถอน ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 คือ ประมาณ 80 กว่าเสียง หรือถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 30 มี.ค หากกกต.ให้การรับรอง และเปิดประชุมวิสามัญเพื่อเข้ารับตำแหน่ง ก็ต้องนับองค์ประชุมในเวลานั้น แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เมื่อไร แต่พวกตนจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามา เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องว่างเอาไว้
"สมชัย"จี้รัฐแจงรายละเอียดใช้งบ2 หมื่นล.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมส่งหนังสือขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181มายังกกต. กรณีที่ครม. อนุมัติงบกลาง เพื่อชำระหนี้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 20,000 ล้านบาท ว่า ส่วนตัวแนะนำให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดต่างๆ มาให้ ชัดเจน ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ ควรชี้แจงรายละเอียดสัดส่วนงบกลางฉุกเฉินของ ปี 2557 ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 72,000 ล้านบาทว่า มีการกำหนดไว้ใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง เนื่องจากในงบกลางปี 2557 ดังกล่าวนั้น เป็นอำนาจของกกต. ที่จะพิจารณาโดยตรง ที่จะสามารถอนุมัติได้ และขอให้ชี้แจงว่าการขอยืมงบกลางมาหมุนเวียนครั้งนี้ จะมีผลผูกพัน ต่อรัฐบาลชุดต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ( 3 ) หรือไม่ อย่างไร รวมถึงข้อมูลในการขายข้าวของปี 2557 ทั้งหมดด้วย และขอให้มีการชี้แจงรายละเอียดว่า การอนุมัติงบประมาณครั้งนี้ จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(4) มีผลได้เปรียบเสียเปรียบต่อการเลือกตั้ง ส่งผลให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่
"หลวงปู่"นำชาวนาบี้อสส.เอาผิด "ปู"
เมื่อเวลา 13.00 น.วานนี้ (27 ก.พ.) ที่หน้าสำนักงานอัยการสูงสุด หลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส.แจ้งวัฒนะ พร้อมด้วย นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย และ นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม ผู้ประสานงานชาวนา นำชาวนาจำนวนหนึ่ง เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้า ในการดำเนินการทวงเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาล รวมทั้งเอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังจากที่มายื่นเรื่องไว้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ เลขานุการอัยการสูงสุด และ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ มาให้คำตอบเรื่องดังกล่าว ว่า การดำเนินการยังขาดเอกสารจากชาวนา อาทิ ใบประทวน จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการคืบหน้าได้ อย่างไรก็ตาม อธิบดีสำนักงานอัยการสูงสุดได้สั่งการแล้วว่า หากมีข้อมูลจากชาวนา จะนำไปเทียบเคียงกับคดีทุจริตลำไย
เมื่อกลุ่มชาวนาได้รับคำตอบเช่นนั้น ก็ไม่พอใจ ต่างส่งเสียงตะโกนด่า และเป่านกหวีดขับไล่ ทำให้หลวงปู่พุทธะอิสระ ต้องขอให้เงียบเสียง พร้อมประกาศว่า การกระทำของ อสส. เหมือนไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาชาวนาที่ถูกโกง เพราะยื่นเรื่องไว้กว่า 2 สัปดาห์แล้ว บอกไม่มีเอกสาร แต่ไม่ส่งคนมาติดต่อ เทียบกับทนายอาสาของหลวงปู่ฯ ช่วง15 วัน ที่รับเรื่องจากชาวนายื่นฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายให้ชาวนา 3 ครั้งร่วม 600 คนแล้ว ดังนั้นหากวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า หรือได้รับคำตอบที่พอใจ จะปักหลักนอนหน้าสำนักงานอสส. หรือต้องให้อธิบดีอัยการสูงสุด มาให้คำตอบที่ชัดเจนเท่านั้น
ช่วงนี้ชาวนาโห่ แสดงความไม่พอใจอัยการเป็นระยะๆ มากยิ่งขึ้น นายระวี จึงเดินเข่าเข้าไปหา เลขานุการ อสส. พร้อมกับยกมือไหว้ว่า "ขอให้ช่วยพวกผมด้วยครับ" เลขานุการอัยการสูงสุด จึงนั่งลงคุยกับ นายระวี ว่า ขอใหัส่งตัวแทนชาวนามาประสานเพื่อฟ้องศาล รวมทั้งยอมรับผิดว่า ดำเนินเรื่องล่าช้า พร้อมจะรับเรื่อง และดำเนินการฟ้องภายในสัปดาห์หน้า โดยขอให้ชาวนานำหลักฐาน ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ใบประทวน มาด้วย จากนั้นจะสอบถามปากคำและฟ้องเป็นรายกรณี
ด้านกลุ่มชาวนา ต่างไม่พอใจกล่าวโจมตีว่า ชาวนามีปัญหาปากท้อง และหนึ้สินสะสมมานาน หากยังดำเนินการลักษณะนึ้ ชาวนาคงตายหมดประเทศก่อน
อย่างไรก็ตามภายหลังถกเถียงกันนานกว่า 1 ชั่วโมง 40 นาที ทาง สนง.อัยการสูงสุด ได้เสนอข้อยุติโดยจะตั้งโต๊ะให้ชาวนานำหลักฐานมายื่น และจะดำเนินการส่งฟ้องศาลให้ ไม่เกินวันพุธ สัปดาห์น้า
แรงงาน ปตท.-สกย.ค้านสุดซอย
น.ส.อัปสร กฤษณสมิต ประธานสหภาพแรงงาน ปตท.จำกัด และประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจกล่าวว่า พนักงาน ปตท.ก็ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเช่นกันโดยในกรอบของกฎหมาย แต่ไม่ได้แสดงตนให้ใครรู้ เพราะพนักงานปตท.ทั้ง 4,000 คนไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากองค์กรรัฐวิสาหกิจไม่ได้อยู่ในกรอบกฎหมาย ก็ขอให้ กสร.เตือนกันดีๆ อย่าทำร้ายเพื่อนเรา อาจจะมีผลต่อทางราชการได้ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการบริหารปตท.นำเงินไปเพื่อช่วยโครงการจำนำข้าวสหภาพก็จะใช้สิทธิเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อคัดค้าน
นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า ตนมีจุดยืนทางการเมืองโดยคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย และพนักงาน สกย.ทั้ง 2,200 คน พร้อมคัดค้านหาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ คนในองค์กร สกย. 80% เป็นคนภาคใต้ ตนก็เป็นคนใต้เมื่อคนในองค์กรมีการเคลื่อนตนก็จะตามไปด้วย ซึ่งเป็นการร่วมชุมนุมนอกเวลางานและหากใช้เวลางานในการชุมนุมก็ต้องลางาน และหากคณะกรรมการบริหาร สกย.อนุมัติเงินกองทุนไปช่วยเหลือโครงการจำนำข้าว สหภาพ สกย.ก็จะใช้สิทธิตามกฎหมายเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อคัดค้านอย่างถึงที่สุด