นักวิชาการประเมินข้าวไทยยังเป็นดาวร่วง ปีนี้ถูกอินเดีย เวียดนาม แซง หล่นเป็นเบอร์ 3 อีกปี เหตุผู้ซื้อในอาเซียนเริ่มซื้อน้อยลง หันผลิตเองมากขึ้น ส่วนผู้ซื้อรายอื่นเริ่มกังวลเรื่องคุณภาพ แนะรัฐบาลใหม่ตั้งกองทุนช่วยเหลือต้นทุนการผลิต เชื่อใช้เงินน้อยกว่าจำนำ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ข้าวไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า ในปี 2557 ข้าวไทยจะเป็นดาวร่วงในตลาดอาเซียน ทั้งในแง่ปริมาณการส่งออกและมูลค่า โดยคาดว่าไทยจะส่งออกได้ประมาณ 6.5-6.8 ล้านตัน ลดลง 2-5 แสนตัน จากปี 2556 ที่ส่งออกได้เกือบ 7 ล้านตัน หรือลดลง 2.85-7.14% มูลค่าจากการส่งออกหายไปประมาณ 30,710-34,580 ล้านบาท โดยไทยจะยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ในตลาดโลกเช่นเดิม รองจากอินเดีย และเวียดนาม
ทั้งนี้ ในส่วนของอินเดียคาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 9.30 ล้านตัน ลดลง 7 แสนตัน จากปี 2556 ที่ส่งออกได้ 10 ล้านตัน หรือลดลง 7% ขณะที่เวียดนามคาดว่าจะส่งออกได้ 7.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4 แสนตัน จากปี 2556 ที่ส่งออก 7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 5.41% แต่ที่ต้องจับตาคือ พม่า จะส่งออกได้ 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.05 ล้านตัน จากปี 2556 ที่ส่งออก 7.5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 140%
สาเหตุที่ข้าวไทยเป็นดาวร่วงเนื่องจากมีผู้ผลิตข้าวในอาเซียนเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อซื้อข้าวจากไทยลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อมาก 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่แม้จะเปิด AEC แต่ก็ยังไม่ลดภาษีนำเข้าข้าวเป็น 0% และ 3 ประเทศนี้ก็มีนโยบายในการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อรายอื่นๆ มีความวิตกกังวลเรื่องคุณภาพข้าวไทยมากขึ้น และไม่มีใครที่อยากซื้อข้าวที่เก็บไว้นาน
“จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2554 ศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยลดลงมาโดยตลอด แต่คู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามกลับเพิ่มขึ้น จากที่เคยเป็นแชมป์ส่งออก ก็ตกมาเป็นที่ 3 ส่วนแบ่งทางการตลาดก็ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทยก็สูงสุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนอย่างเวียดนามและพม่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ก็แพ้เวียดนาม แต่ยังดีกว่าพม่า แต่โดยสรุปชาวนาไทยมีรายได้เมื่อหักต้นทุนต่างๆ แล้วเหลือน้อยกว่าชาวนาของเวียดนาม และพม่า”
นายอัทธ์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ขอให้พิจารณาตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตให้ชาวนาในสัดส่วน 40% ของต้นทุน โดยปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 9,763 บาท หากอุดหนุน 40% เท่ากับ 3,905 บาทต่อตัน เทียบกับข้อมูลภาครัฐที่มีชาวนาประมาณ 2 ล้านครัวเรือน มีการปลูกข้าวเฉลี่ยครัวเรือนละ 20 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 9 ตันต่อครัวเรือน โดยใน 1 ปีทำนา 2 ครั้ง เท่ากับรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนประมาณปีละ 1.96 แสนล้านบาท น้อยกว่าโครงการจำนำที่ใช้ประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ก็ควรจะมีการลดราคารับจำนำต่อตันลงจากปัจจุบันที่ตันละ 1.5-2 หมื่นบาท และลดวงเงินเพดานที่ให้ต่อครัวเรือนลงจากปัจจุบันครัวเรือนละ 3.5 แสนบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง