xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้า แจง กำลังเคลียร์กรมศุลกากร ยัน 51 ปีทำธุรกิจในไทยโปรงใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากข่าวกรมศุลกากร เรียกบริษัท โตโยต้า ชี้แจงขอเก็บย้อนหลังภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ โตโยต้า พรีอุส เลี่ยงภาษีกว่า 10,000 ล้านบาท หลังตรวจสอบการนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูปตามข้อตกลง JTEPA ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างเป็นทางการเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ซ้ำรอยเก่า 5 ปีที่แล้ว โดยเรียกภาษีเพิ่ม 800 ล้านบาท

วันนี้ ( 20 ก.พ.) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ส่งข่าวผ่านอีเมล์ชี้แจงถึงกรณีโตโยต้า เลี่ยงภาษีหมื่นล้าน ว่า บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนในขณะนำเข้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจดูเอกสารและมีความเห็นว่า บริษัทฯ ชำระอากรไว้ไม่ครบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและรายละเอียดต่าง ๆ ให้กรมศุลกากรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2556โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลสรุปตามขั้นตอนของกรมศุลกากร

ในกรณีความตกลงการค้าไทย-อินเดียนั้นเป็นกรณีที่บริษัทฯได้นำเข้าชิ้นส่วนชุดส่งกำลัง (Transmission) รถเพื่อการพาณิชย์ โดยตรงจากประเทศอินเดียและได้เสียภาษีตามอัตราที่กำหนดในข้อตกลงฯ แต่ปัญหาเกิดจากการที่บริษัทฯ ได้ใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ในข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ เป็นปกติ แต่กรมศุลกากรมีความเห็นว่าไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ ได้ จึงให้บริษัทฯ ชำระภาษีและค่าปรับเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2555 กรมศุลกากร ได้ออกประกาศอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับความตกลงทางการค้าระหว่างไทย กับประเทศอื่นๆ อาทิ ความตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียน, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ระยะเวลากว่า 51 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯได้ดำเนินงานบนพื้นฐานความโปร่งใส (Transparency) ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (Corporate Governance) และดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้ารวมถึงตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกด้วยดีตลอดมา




กำลังโหลดความคิดเห็น