ธีรวุฒิ อ่อนดำ
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
จากการที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการออกพันธบัตรจำนำข้าวเพื่อระดมเงิน 1.1 แสนล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเงินตามใบประทวนจำนำข้าวให้ชาวนา ทั้งที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง
เห็นได้ชัดจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ที่ชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 0.6 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 4.5 การลงทุนโดยรวมลดลงร้อยละ 11.3 โดยที่การลงทุนในภาคเอกชนลดลงร้อยละ 13.1 การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.7 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณที่ลดลง ขณะที่การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าเหลือ 55,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.0 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2557)
ทั้งนี้ การออกพันธบัตรรัฐบาลคงไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลรักษาการ แต่ถึงแม้ว่าจะทำได้ก็เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด หากแต่วิธีการดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้ว ให้ช้ำหนักเข้าไปอีก เพราะวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลให้แก่ประชาชนรายย่อยเท่านั้น ส่วนรายใหญ่ และรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เป้าหมาย
ซึ่งการที่ประชาชนรายย่อยจำนวนมากนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ย่อมทำให้เงินสดหมุนเวียนของประชาชนเหล่านั้นลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชนลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น การที่รัฐบาลเลือกหาเงินด้วยวิธีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวนานั้น จะยิ่งเป็นการดึงสภาพคล่องออกจะระบบ ซ้ำเติมปัญหาเป็นลูกโซ่ รวมถึงทำให้การลงทุนในประเทศยิ่งทรุดหนักเข้าไปอีก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระบบ
สำหรับแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ดีที่สุดคือ การกู้เงินจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการย่อมไม่สามารถทำได้ หากจะใช้วิธีการเร่งระบายข้าวก็ดี การคืนข้าวให้ชาวนาไปขายเองก็ดี ณ ขณะนี้มองว่าคงไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
หากรัฐบาลจะนำไปขายเองก็ไม่ช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้น เนื่องจากการเทขายข้าวในปริมาณมากจะยิ่งส่งผลให้ราคาขายต่ำลง
ดังนั้น เหลือเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยเหลือชาวนาให้มีเงินมายังชีพ ใช้หนี้สิน และเป็นทุนปลูกข้าวในฤดูกาลที่จะมาถึงคือ รัฐบาลต้องลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มที่เข้ามาจัดการ