xs
xsm
sm
md
lg

กบข.ปัดซื้อบอนด์จำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบข.ยืนยันไม่ได้รับเชิญลงทุนพันธบัตรจำนำข้าว ระบุสภาพคล่องต่ำและไม่ได้เป็นเป้าของกระทรวงการคลัง ย้ำการลงทุนต้องโปร่งใส และคำนึงถึงความรู้สึกของสมาชิกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลัง จะหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ในโครงการจำนำข้าว ซึ่งจะทำการออกพันธบัตรขายหน่วยงานรัฐที่มีสภาพคล่องด้วยกัน 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักงานประกันสังคม ฝ่ายกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ล่าสุดนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) เปิดเผยว่า กบข.ไม่เคยได้รับเชิญจากรัฐบาลรักษาการเพื่อให้ร่วมประมูลซื้อพันธบัตรในโครงการรับจำนำข้าวตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งกบข. ไม่ได้มีแผนที่จะเข้าลงทุน เนื่องจากสภาพคล่องของ กบข. มีน้อย ไม่ได้มีสภาพคล่องมากตามที่เป็นข่าว
ทั้งนี้ ในแต่ละเดือน กบข.มีเงินของสมาชิกเข้ามาประมาณ 1,000 ล้านบาท เพราะเงินเดือนของสมาชิกไม่ได้สูงมาก เฉลี่ยสมาชิกมีเงินเดือน 10,000-40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินสมทบในกองทุน กบข. ประมาณร้อยละ 1-3 หรือเฉลี่ย 200-800 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่ง กบข.ไม่น่าเป็นเป้าหมายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ กบข. ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล
นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ จะมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และคณะอนุกรรมการที่มีทั้งบุคคลภายใน กบข. และคนนอก กบข. ร่วมกันพิจารณา
ดังนั้น หากจะเลือกลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลจะต้องโปร่งใส และมีข้อมูลครบถ้วน ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเงื่อนไขในพันธบัตรโครงการรับจำนำว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ให้ผลตอบแทนพันธบัตรสูงกว่าดอกเบี้ยในตลาดหรือไม่ ประกอบกับโครงการรับจำนำข้าวถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
“การบริหารจัดการลงทุนของ กบข. ต้องคานึงหลายตัวแปร แม้ กบข. จะให้ความสาคัญต่อผลตอบแทนและความมั่นคงของหลักทรัพย์ที่ลงทุน กบข. ก็มิได้ละเลยประเด็นด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงขององค์กร และที่สาคัญมากไปกว่านั้นคือความรู้สึกของสมาชิก หาก กบข. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประมูลจริง กบข. คงนำตัวแปรเหล่านั้นมาพิจารณาให้รอบคอบครบถ้วน รวมถึงจะมีการหารือกับคณะกรรมการของ กบข. และคงไม่ตัดสินใจลงทุนหากไม่ชัดเจนในแง่มุมกฎหมายหรือมีความเสี่ยงมาก”นายสมบัติฯ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าหลังจากนี้คงจะไม่มีสมาชิก กบข.ออกมาชุมนุมเพื่อคัดค้านการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากมีการอธิบายให้กับสมาชิก และคณะอนุกรรม กบข. เข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การบริหารเงินในกองทุนจะจัดสรรการลงทุนเพื่อเป็นไปตามนโยบาย คือลงทุนในประเทศ ร้อยละ 75 ต่างประเทศร้อยละ 25 แบ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง เช่น หุ้นกู้ของเอกชนที่มีอันดับเครดิตสูง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. และอสังหาริมทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น