xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เล็งผุดรถราง “โคราช-พิษณุโลก-ภูเก็ต” เชื่อมรถไฟความเร็วสูงแก้จราจรเขตเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.นำร่องผุดรถรางโคราช, พิษณุโลก, ภูเก็ต เพื่อเชื่อมสถานีรถไฟความเร็วสูงทั้งเข้าเมืองและไปจังหวัดใกล้เคียง และแก้ปัญหาจราจรในเขตเมือง ลงทุนน้อย ค่าซ่อมบำรุงต่ำ เตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาละเอียดรูปแบบลงทุนรถรางโคราช คาด รบ.ลงทุน ให้ท้องถิ่นบริหาร ส่วน กทม.ปัจจุบัน กทม.ยังไม่เหมาะจนกว่าจะมีรถเมล์ใหม่และจัดเส้นทางใหม่ เล็งยุบสายที่วิ่งซ้ำซ้อนปรับเป็นรถรางวิ่งแทน ชูเมืองซิดนีย์ต้นแบบเชื่อมรถราง-รถไฟฟ้าเพิ่มผู้โดยสาร

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.ได้ทำการศึกษาและวางแผนการเชื่อมการเดินทางเข้าสถานีรถไฟความเร็วสูงในแต่ละสถานีในจังหวัดต่างๆ เช่น โคราช พิษณุโลก รวมถึงการแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต ซึ่งจะกำหนดระบบขนส่งที่เหมาะสมและสอดคล้องในการเดินทางของแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงระบบรถไฟความเร็วสูงได้สะดวกรวดเร็วรวมถึงสามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าไปในพื้นที่สำคัญของจังหวัดนั้นๆ และจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวกที่สุด โดยในเดือนเมษายนนี้ สนข.จะว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้ศึกษารายละเอียดการก่อสร้างโครงการรถรางเมืองโคราช หรือ Tram Line วงเงินประมาณ 70 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 1 ปี

ทั้งนี้จะเป็นการนำผลการศึกษาเดิมของเทศบาลเมืองโคราช ที่มีมาพัฒนาและศึกษาละเอียดมากขึ้นทั้งรูปแบบการก่อสร้าง การลงทุน การเดินรถที่มีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งหลักๆ คาดว่าโคราชอาจจะมีรถรางประมาณ 2-3 สาย ทั้งวิ่งภายในเมืองไปยังสถานที่สำคัญ สนามกีฬา มหาวิทยาลัย และเชื่อมไปยังจังหวัดข้างเคียง เช่น ขอนแก่น โดยจะก่อสร้างไปบนเกาะกลางถนนมิตรภาพ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นถนนในเมืองไปแล้ว มีเป้าหมายรองรับการเดินทางของคนในจังหวัดนครราขสีมาเองเพื่อช่วยลดปริมาณรถยนต์และทำให้รถที่วิ่งมากจากจังหวัดอื่นผ่านเมืองโคราชได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยต้องพิจารณาหน่วยงานมี่จะทำหน้าที่ก่อสร้างงานโยธา ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าควรเป็นกรมทางหลวงเพราะการก่อสร้างจะอยู่บนเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง

“แนวคิดเบื้องต้น รัฐบาลกลางจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธา และให้ท้องถิ่นทำหน้าที่บริหารการเดินรถ ทำให้มีโอกาสอยู่ได้ด้วยตัวเองและเป็นการกระจายอำนาจในส่วนของขนส่งมวลชนลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวของประเทศ โดย สนข.ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านเทคนิค ระยะทาง ประมาณ 11-12 กม. วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ลงทุนไม่มาก ค่าบำรุงรักษาต่ำ รองรับการเดินทางได้มากกว่า 300 คนต่อขบวนหรือเที่ยว ความเร็วเฉลี่ย 25 กม.ต่อ ชม. ขณะที่รถเมล์รับได้เพียง 60 คนต่อคันหรือเที่ยว” นายจุฬากล่าว

ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ยอมรับว่าการนำรถรางมาวิ่งค่อนข้างยากเพราะพื้นที่มีจำกัด มีปริมาณการเดินทางสูง จึงเหมาะกับระบบรถไฟฟ้าที่ขนส่งได้ถึง 1,200 คนต่อขบวน แต่ในอนาคตหากมีการปฏิรูปรถเมล์ มีรถใหม่ จัดเส้นทางใหม่จะสามารถนำรถรางมาวิ่งแทนรถเมล๋ได้ในบางเส้นทางที่มีการวิ่งซ้ำซ้อนกันหลายสาย เพื่อลดปริมาณรถบนถนน โดยจะต้องมีระบบตั๋วร่วมแล้ว ซึ่งภายใน 3 ปีระบบตั๋วร่วมจะสมบูรณ์

สำหรับระบบรถราง ถือเป็นระบบสำคัญของของขนส่งมวลชนเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งนอกจากระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟชานเมืองและรถไฟระหว่างเมืองรวม 10 สายแล้ว พบว่ายังมี รถราง หรือ Tram Line ด้วย โดยรัฐบาลเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย มีการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชนของเมือง โดยมี Central Station เป็นสถานีกลาง เหมือนสถานีกลางบางซื่อ เชื่อมต่อระบบขนส่งทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าวิ่งระหว่างเมือง รถราง รถเมล์ แท็กซี่ โดยมีระบบ “ตั๋วร่วม” โอปอล (Opal) ซึ่งจะพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้การเชื่อมต่อมีความสมบูรณ์ทั้งรถไฟฟ้า รถราง รถเมล์ เรือ ภายในปี 2557

อย่างไรก็ตาม ระบบรถไฟของซิดนีย์ในภาพรวม รัฐลงทุน 100% โดยมีรายได้จากค่าโดยสารเพียง 30% จ้างเอกชนเดินรถรัฐอุดหนุนส่วนต่าง โดยใช้หลักคิดที่ใช้งบประมาณสำหรับระบบรางมากกว่าถนน เพราะถือว่าจะได้คืนในเรื่องความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทุกหน่วยงานต้องปฎิบัติตามแผนแม่บทกลาง โดยปัจจุบัน มีปริมาณการเดินทาง 1.27 ล้านเที่ยว แบ่งเป็น รถยนต์ 2% รถไฟ 2% รถราง 2% รถแท็กซี่ 1% เดิน 92% ส่วน กทม.มีการเดินทางสูงกว่ามากถึง 17 ล้านเที่ยวต่อวัน
ตัวอย่าง เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ที่ใช้ระบบรางราง (Tram Line) ที่่มีประสิทธิภาพมาก

รถไฟ 2 ชั้น วิ่งระหว่างเมือง เพื่อเดินทางและท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น