ASTVผู้จัดการรายวัน - “ซีเอ็ด” แท็กทีม “อัมรินทร์” โขกราคารับจัดจำหน่ายหนังสือเพิ่มอีก 5% อ้างเหตุผลเดิมต้นทุนเพิ่ม ค่าแรง 300 บาท/วันเป็นชนวนหลัก ฟากสำนักพิมพ์รายย่อยครวญต้องก้มหน้าแบกรับต้นทุนต่อไป วงการสิ่งพิมพ์ชี้งานนี้รายย่อยรายเล็กต้องล้มหายตายจากแน่นอน ด้านนายก PUBAT ขวาง พร้อมเจรจาหาทางออกสรุปเหลือขึ้น 2-3-% ฟันธงตลาดรวมหนังสือทั้งปีทรงตัวที่ 30,000 ล้านบาท สำนักพิมพ์ล้มมากกว่า 20 ราย เกิดใหม่ไม่ถึง 10 ราย
ตลาดหนังสือในประเทศไทยว่ากันว่ามีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท และมีการเติบโตทุกปีโดยเฉลี่ย 5-10% เนื่องจากภาคเอกชนพยายามรณรงค์ส่งเสริมการอ่านมากขึ้น รวมทั้งการจัดงานหนังสือต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น แต่ไม่วายว่าอุตสาหกรรมหนังสือก็ต้องเผชิญกับปัญหามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นค่าการผลิตต้นทุนที่สูงขึ้นตามกระดาษ หรือน้ำหมึก รวมไปถึงค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าจัดพิมพ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะปรับราคาขึ้นได้ง่ายๆ การเผชิญกับค่าขนส่ง ค่าจัดจำหน่าย ค่าจัดวาง หรือแม้แต่การเผชิญกับเทคโนโลยีที่มากระแทกตลาดหนังสือเล่มอย่างดิจิตอลบุ๊ก
ล่าสุดนี้ตลาดหนังสือคงต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง เมื่อ “เสือนอนกิน” อย่างผู้ที่ทำหน้าที่รับจัดส่งและจำหน่ายหนังสือประกาศลั่นว่าต้องเพิ่มค่าธรรมเนียมในการจัดส่งหนังสือใหม่ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก 2 ค่ายใหญ่แห่งวงการคือ “ซีเอ็ด” และ “อัมรินทร์” ที่ขอขึ้นค่าธรรมเนียมและการจัดจำหน่ายหนังสือ
“ซีเอ็ด” หรือชื่อเต็มทางการคือ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีชื่อย่อทางการค้า คือซีเอ็ด (SE-ED) เจ้าของร้านซีเอ็ด
“อัมรินทร์” หรือชื่อเต็มทางการคือ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านนายอินทร์
เนื่องจากทั้งสองค่ายนี้เป็นเชนใหญ่ของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ในประเทศไทย มีบทบาทและถือครองตลาดรวมกันมากกว่า 50% ทั้งในแง่จำนวนร้านเชนหนังสือ หรือสัดส่วนรายได้ของตลาดรวม จึงมีบทบาทและมีอำนาจในการต่อรองและกำหนดทิศทางตลาดรวมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องของการกำหนดค่าธรรมเนียมในการขายและจัดส่ง
ขณะที่สำนักพิมพ์รายย่อยน้อยใหญ่ต่างก็ต้องพึ่งพาเครือข่ายของสองค่ายนี้เป็นหลัก แทบจะไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไร!
เพราะล่าสุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ทั้ง “ซีเอ็ด” และ “นายอินทร์” ในเครืออัมรินทร์ซึ่งเป็นเชนร้านหนังสือขนาดใหญ่และรับจัดจำหน่ายหนังสือให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ต่างพากันส่งเรื่องไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อขอปรับราคารับจัดจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5% จากเดิมที่เรียกเก็บไม่น้อยอยู่แล้วถึง 40% จากราคาหน้าปกหนังสือแต่ละปก
เหตุผลหลักที่ทั้งสองค่ายนำมากล่าวอ้างเพื่อความชอบธรรมก็ยังคงเป็นเหตุผลเดิมๆ ที่ว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน ขณะที่ค่ายนายอินทร์ก็มีเหตุผลใหม่เพิ่มเข้ามาที่ว่า ร้านนายอินทร์กลายเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของอัมรินทร์ซึ่งจะต้องดำเนินงานบริหารจัดการให้มีรายได้ของตัวเองให้มีกำไรเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ในเครือ ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการธุรกิจใหม่ จึงขอปรับราคาค่าจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
*** สำนักพิมพ์รายย่อยอ่วม ***
นายวิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดรวมของหนังสือในไทยกำลังมีต้นทุนดำเนินการที่สูงขึ้นมากทั้งจากต้นทุนโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนค่าธรรมเนียม การจัดจำหน่ายหนังสือ เพราะในช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณจากเชนร้านหนังสือรายใหญ่ที่รับจัดจำหน่ายหนังสือได้เริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านหนังสือ รวมทั้งสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 45% เทียบกับราคาปกหนังสือ
“ครั้งนี้เรียกเก็บกันแบบไม่เอิกเกริกในหลายวิธีการทั้งทางโทรศัพท์และจดหมาย แม้ว่าปริมาณที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นครั้งใหม่นี้จะมี 5% แต่เมื่อรวมกับของเดิมแล้วก็ปาเข้าไปถึง 45% ซึ่งเป็นปริมาณที่มากโขเอาการอยู่ ว่ากันง่ายๆ ก็คือเกือบจะครึ่งหนึ่งของรายได้ที่ขายได้แต่ละเล่มต้องให้กับซีเอ็ด หรือนายอินทร์ที่เป็นคนจัดจำหน่ายไปเกือบ 50% แล้ว ครึ่งๆ เลยทีเดียว ส่วนที่เหลือเจ้าของหนังสือก็ได้แค่หยิบมือเดียวเพราะต้องแบ่งให้กับอีกหลายส่วน”
นายวิทยาย้ำว่า การปรับขึ้นราคาค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายครั้งนี้สำนักพิมพ์รายย่อยและสำนักพิมพ์รายใหม่จะได้รับผลกระทบโดยตรง หลังจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือรายใหญ่ทั้ง 2 รายคือซีเอ็ด และอัมรินทร์มีความพยายามที่จะขอปรับราคาค่าจัดจำหน่ายเพิ่ม โดยอ้างถึงค่าแรงที่ปรับตัวเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน แต่ไม่สำเร็จ
“ครั้งก่อนทั้งสองบริษัทจะเลือกใช้วิธีการส่งจดหมายแจ้งปรับราคาจัดจำหน่ายขึ้นไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ครั้งนี้ต่างคนต่างทำและเลือกที่จะใช้วิธีโยนหินถามทาง โดยการใช้โทรศัพท์แทนก่อนและเลือกเฉพาะสำนักพิมพ์รายเล็ก หรือเป็นรายๆ ไป”
ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ถือเป็นคู่ค้ากับทางซีเอ็ดมายาวนานจึงยังไม่มีการปรับราคาจัดจำหน่ายเพิ่ม เพราะสามารถเจรจาต่อรองกันได้ด้วยเหตุผล แต่สำหรับสำนักพิมพ์อื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบต้องจ่ายค่าจัดจำหน่ายเพิ่มด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันบริษัทที่ทำธุรกิจรับจัดจำหน่ายหนังสือรายหลักๆ ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 3-4 ราย เช่น ซีเอ็ด อัมรินทร์ เพ็ชรไทย เป็นต้น โดยเฉพาะ 2 รายแรกนั้นเป็นรายใหญ่ถือครองตลาดมากสุด ดังนั้นหากรายใหญ่มีการปรับขึ้นราคาจัดจำหน่ายเพิ่ม ผู้รับจัดจำหน่ายรายเล็กก็มีแนวโน้มที่อาจจะปรับราคาขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน”
ส่วนอัตราในการปรับขึ้นนั้นอาจจะแตกต่างกันไปเพราะต้นทุนของแต่ละสำนักพิมพ์แตกต่างกัน ยอดขายก็แตกต่างกันด้วย ซึ่ง 2 ค่ายใหญ่คือซีเอ็ด และอัมรินทร์ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกสำนักพิมพ์ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ส่วนเพ็ชรไทยลูกค้าหลักคือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและรายย่อย ดังนั้นการปรับราคาจัดจำหน่ายจึงน่าจะแตกต่างกัน
*** ดิ้นหาช่องทางขายใหม่หนีค่าธรรมเนียมโหด ***
หากมีการปรับราคาค่าจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจริงเชื่อว่า
1. สำนักพิมพ์รายย่อยจะมีการปรับตัวหาช่องทางขายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะมาเน้นวิธีการขายตรงกันมากขึ้น หรือการใช้กลยุทธ์ขายผ่านออนไลน์ เป็นต้น โดยจำนวนหนังสือบนแผงหนังสือจะมีจำนวนลดลง เวลาในการวางอยู่บนแผงหนังสือก็จะน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันร้านหนังสือมีขนาดจำกัด ค่าเช่าร้านหนังสือสูงขึ้น สำนักพิมพ์รายใหญ่ได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นสำนักพิมพ์รายเล็กจะให้ความสำคัญในการออกหนังสือมากขึ้น มีการคัดกรอง หรือออกหนังสือในรูปแบบ “นิชมาร์เกต” มากขึ้น
2. ทิศทางตลาดหนังสือจะมีโอกาสเติบโตในช่องทาง e-Book สูงขึ้น หากต้นทุนในการวางจำหน่ายในร้านหนังสือสูงขึ้น จากปัจจุบัน e-Book อาจจะยังมีขนาดเล็กอยู่ แต่ทิศทางของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้น โดยนิยมอ่านข้อมูลจากแกดเจ็ตเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสให้อีบุ๊กมีโอกาสเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าปีนี้ตลาดหนังสือกำลังอยู่ในช่วงขาลง ยิ่งมีการปรับราคาการจัดจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้นด้วยแล้ว สำนักพิมพ์รายเล็กและรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดนี้จะอยู่ลำบาก ส่วนสำนักพิมพ์ที่มีขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ยังอยู่ได้จากฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม แต่แนวโน้มภาพรวมการเปิดตัวหนังสือใหม่ในปีนี้จะมีเกิดขึ้นน้อยลง หรือพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น
“ตามความคิดเห็นส่วนตัว มองว่าหนังสือเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นมากนักตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสินค้าเอนเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ ขณะเดียวกันพอจะมีการปรับราคาขึ้นบ้างลูกค้าก็จะไม่ซื้อ มองว่ามีราคาแพงทั้งที่เทียบกับสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ หนังสือยังมีราคาที่ถูกกว่ามาก อีกทั้งหากมีการปรับราคาหนังสือขึ้นก็จะทำให้ทั้งระบบของตลาดหนังสือมีการปรับราคาขึ้นตามด้วยเช่นกัน การปรับราคาหนังสือจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่สิ่งที่เราหลีกหนีไม่ได้คือการขึ้นราคาของผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่” นายวิทยากล่าว
*** หนังสือเด็กเจ็บตัวมากสุด ***
ด้าน นางริสรวล อร่ามเจริญ อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ในนามกรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด กล่าวให้ความเห็นว่า หนังสือที่บริษัทผลิตจะเป็นหนังสือสำหรับเด็ก อีกทั้งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้จัดจำหน่ายเองทั้งหมด และอาจจะเลือกใช้บริการจากบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือไปยังต่างจังหวัดบ้างเพียงเล็กน้อยแล้วแต่กรณี ดังนั้นบริษัทฯ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาจัดจำหน่ายหนังสือขึ้นจาก 2 บริษัทใหญ่ แต่มองว่าในภาพรวมจะส่งผลกระทบต่อวงการอย่างมาก ทุกสำนักพิมพ์และหนังสือทุกประเภทต่างก็จะได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนจะกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตหนังสือเป็นหลัก เช่น กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กอาจจะกระทบมากหน่อย เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน ต้นทุนการผลิตจึงสูงกว่า อีกทั้งกำไรต่อเล่มก็น้อยสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มหนังสือประเภทอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาข้อตกลงกับผู้จัดจำหน่ายหนังสือด้วยว่าจะยอมให้ปรับขึ้นราคามากน้อยเพียงใด
*** PUBAT ออกโรงเจรจา สรุปปรับขึ้น 2-3% ***
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า จากกรณีที่ทางเชนร้านหนังสือ 2 เชนใหญ่คือซีเอ็ด และอัมรินทร์ ถือเป็นรายใหญ่ในการรับจัดจำหน่ายหนังสือได้เริ่มปรับราคาการจัดจำหน่ายหนังสือไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากเดิมเรียกเก็บอัตรา 40% มาเป็น 42-43% ในเบื้องต้นทาง 2 ค่ายใหญ่ต้องการปรับเพิ่มอีก 5% แต่ทางสมาคมฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นอัตราที่เพิ่มมากเกินไป จึงได้พยายามเจรจาต่อรองหาทางออกร่วมกันกับ 2 ค่ายและผู้ใช้บริการ 2 ค่ายนี้ โดยมีจุดประสงค์ต้องการให้สำนักพิมพ์รายเล็กรายย่อยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ การเจรจาต่อรองสามารถบรรลุผลในระดับหนึ่ง โดยสรุปตัวเลขที่จะเรียกเก็บเพิ่มใหม่คราวนี้อยู่ที่ 2-3% เท่านั้น โดยสำนักพิมพ์ทุกขนาดได้ถูกปรับราคาขึ้นเหมือนกันหมดไม่เว้นแม้แต่สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่อย่าง “สำนักพิมพ์แจ่มใส” ก็ตาม
*** 2 เชนใหญ่ฮุบส่วนแบ่งมากสุด ***
ปัจจุบันหนังสือ 1 เล่มเมื่อสามารถขายได้แล้วจะต้องทำการแบ่งรายได้ออกเป็น 4 ส่วนหลักคือ
1. “สายส่ง หรือผู้จัดจำหน่าย” จะได้ส่วนแบ่งมากที่สุดคือ 42-43%
2. “ต้นทุนการผลิต” ประมาณ 30%
3. “ผู้เขียน” จะได้ส่วนแบ่งประมาณ 10%
4. “ผู้ผลิต หรือเจ้าของสำนักพิมพ์” จะได้ประมาณ 17-18%
จะเห็นได้ว่าวงจรของรายได้หนังสือนั้นสายส่งจะได้มากสุดและมีอำนาจมากสุดในระบบ หากสายส่งมีการปรับราคาขึ้นอีกธุรกิจหนังสือก็จะอยู่ยาก โดยปัจจุบันรายได้จากการขายหนังสือมาจาก 2 ช่องทางหลัก คือ 1. มาจากช่องทางร้านหนังสือ 50% ซึ่งก็ยากที่จะปฏิเสธว่ามาจากร้านนายอินทร์กับร้านซีเอ็ดเป็นช่องทางหลัก 2. มาจากการขายเองผ่านช่องทางอื่นๆ 20% ส่วนอีก 30% นั้นคือส่วนที่เหลือเป็นส่วนต่างของหนังสือที่ไม่สามารถขายได้หรือถูกตีกลับนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดจำหน่ายแต่อย่างใดตามสัญญา
ขณะเดียวกัน ต้นทุนด้านกระดาษปีนี้ก็ต้องแบกรับต้นทุนเช่นกัน เพราะรู้ว่าหากปรับราคาเพิ่ม ราคาปกหนังสือก็จะเพิ่มตาม และอาจจะทำให้ขายหนังสือได้ยากเพราะผู้อ่านจะมองว่ามีราคาแพงเกินไป
*** ทางออกเน้นสร้างช่องทางขายใหม่ ***
ดังนั้น ทางออกของปัญหาการปรับราคาค่าจัดจำหน่ายหนังสือเพิ่มที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็ก หรือแม้แต่รายใหญ่เองที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์ของสองค่ายใหญ่นี้ต่อไปก็คงต้องมองหาช่องทางขายใหม่ๆ เพื่อหวังพึ่งพิงร้านหนังสือให้น้อยลง เช่น การจัดสัปดาห์หนังสือทำให้สำนักพิมพ์พบกับผู้อ่านโดยตรงก็เป็นช่องทางสำคัญ
นายจรัญกล่าวว่า ปีนี้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT จะเน้นจัดงานสัปดาห์หนังสือขนาดเล็กให้มากยิ่งขึ้น และเน้นให้ภาครัฐซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้นมากกว่าการรับบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดอย่างที่ผ่านมา ที่สำคัญในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นจริงต้องการให้พรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการหาเสียงให้บรรจุนโยบายการอ่านหนังสือเพื่อการหาเสียงด้วย เพื่อเป็นช่องทางสร้างตลาดหนังสือให้เติบโตมากขึ้นนั่นเอง
*** สนพ.ล้มกว่า 20 ราย-เพิ่มต่ำ 10 ราย ***
นายจรัญกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจะต้องปรับตัวและเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ ให้มากขึ้น ขณะที่ปีนี้เชื่อว่าจำนวนสำนักพิมพ์จะหายไปมากกว่า 20 รายมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนสำนักพิมพ์เกิดขึ้นน่าจะไม่เกิน 10 ราย น้อยกว่าปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากปัญหาสำคัญของวงการและต้นทุนที่แพงจากการจัดจำหน่ายที่เก็บค่าธรรมเนียมสูงนั่นเอง
ทว่า สำนักพิมพ์ที่จะเกิดใหม่ หรืออยู่ได้ต่อไปนั้นจะต้องเป็นสำนักพิมพ์ที่เจาะกลุ่มเฉพาะเจาะจง หรือ “นิชมาร์เกต” จึงจะสามารถเอาตัวอยู่รอดได้ และจากการที่ 2 เชนใหญ่ครองส่วนแบ่งร้านหนังสือทั่วประเทศไปแล้วมากกว่าครึ่ง การที่จะมีเชนร้านหนังสือขึ้นมาใหม่เป็นไปได้ยาก ยิ่งเกิดจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนและแข่งขันสูง
*** การเมืองส่งไตรมาสแรกหนังสือตก 10% ***
ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าจากสถานการณ์ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและการมีการชุมนุมต่อเนื่องยาวนานที่เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยและตลาดหนังสือในขณะนี้จะส่งผลกระทบให้ไตรมาสหนึ่งของปี 2557 ตลาดหนังสือน่าจะลดลง 10% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยในไตรมาสสองยังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ แต่มองว่าถึงเวลานั้นก็ยังไม่มีรัฐบาลเกิดขึ้น ดังนั้นทั้งปีนี้จึงเชื่อว่าภาพรวมตลาดหนังสือน่าจะทรงตัว หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 25,000-30,000 ล้านบาทเช่นปีที่ผ่านมา