ASTVผู้จัดการรายวัน - ส่องวิชัน 5 นายกสมาคมภาคธุรกิจประเมินภาพเศรษฐกิจไทยปีมะเมีย 2557 ฟันธงยังคงเหนื่อยจากหลากปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะปัญหาหลักการเมืองที่วุ่นวายไม่จบ พร้อมฟันธงเป็น “ปีม้าขาแพลง”
ผ่านเข้าสู่ปีใหม่ 2557 มาแล้วร่วม 20 วัน แต่ดูเหมือนภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังคงจับทิศทางไม่ถูกว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร ท่ามกลางปัญหาการเมืองและการชุมนุมที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นทุกขณะ “ASTVผู้จัดการรายวัน” สำรวจและสัมภาษณ์ความคิดเห็นกับ 5 ผู้นำของสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และมองทิศทางธุรกิจในปีมะเมียว่าจะเป็นอย่างไร?
*** นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ***
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2557 คาดว่าคงยังไม่ดีขึ้นกว่าปี 2556 แน่ ซ้ำร้ายอาจจะแย่กว่าด้วย เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่ยังไม่ลงตัวโดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะจบกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้นในปี 2557 ก็ล้วนแต่ยังคงเป็นปัจจัยลบเดิมๆ เกิดขึ้น แต่จะลุกลามหนักอีกคือ
1. ปัญหาภาคการเกษตร ทั้งเรื่องราคาพืชผลที่ต่ำลง ผลผลิตที่บางช่วงล้นตลาด บางช่วงขาดตลาด
2. ภาคอุตสาหกรรมที่ขณะนี้ค่าแรงงานของไทยเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก หลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศอื่น
3. ปัญหาการเมืองที่จะยังคงมีความวุ่นวายอีก ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและนโยบายการลงทุนของต่างชาติด้วย
4. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงและใหญ่หลวงมากที่ยังแก้ไขไม่ได้
“ที่สำคัญความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ลดลงด้วย กำลังซื้อต่างๆ ก็ลดลงทั้งระบบ และไม่มีใครคาดเดาได้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร มีหน้าตาอย่างไร เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนส่วนใหญ่หรือไม่ และเมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะสานต่อโครงการเก่าๆ ของรัฐบาลชุดเดิมต่อไปหรือไม่ ตรงนี้ก็จะเกิดความไม่แน่นอนทางการลงทุนเช่นกัน”
นายสมชายกล่าวว่า หากเปรียบเสมือนประเทศไทยตอนนี้ก็เหมือนบ้านที่มีปลวกเต็มไปหมด ถูกปลวกแทะกินจนเสาบ้าน สภาพบ้านพังทลายไปมาก การที่จะซ่อมแซมบ้านในสภาพนี้มันก็ลำบาก คงต้องรื้อบ้านทิ้งแล้วสร้างใหม่จะดีกว่า หากมองในแง่การเมืองแล้วก็ต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใหม่ก่อน แล้วเลือกตั้งเพื่อที่จะได้อะไรที่ดีขึ้น
นายสมชายกล่าวต่อในแง่ของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งด้วยว่า ในปี 2557 ยังคงแข่งขันกันดุเดือดเหมือนเดิม เพราะว่าปี 2556 ตัวเลขโดยรวมไม่ค่อยดีเท่าไร ปี 2557 ทุกค่ายค้าปลีกต้องทำโปรโมชันกันหนัก ทั้งลดแลกแจกแถมมากกว่าเดิมเพื่อกระตุ้นอารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภค โมเดิร์นเทรดต้องพยายามเจรจากับทางซัปพลายเออร์เพื่อขอการสนับสนุนราคาสินค้าให้ต่ำลงเพื่อแข่งกับคู่แข่ง
“ปี 2557 ที่เป็นปีมะเมีย หรือปีม้า ผมมองว่าคงจะเป็นปีม้าขาแพลงแน่นอน เพราะม้าตัวนี้จะวิ่งเร็วก็วิ่งไม่ได้ จะกระโดดพยศก็ไม่ได้ ได้แต่เดินกะเผลกๆ ไปเรื่อยๆ เพราะว่าม้ามันขาแพลง”
*** สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ***
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน และเลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ให้ความเห็นว่า “ในปี 2557 ผมยังมีความเป็นห่วงในภาพรวมของธุรกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากมีปัญหาที่ยังคาราคาซังต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วหลายอย่าง นอกจากนั้นปัญหาการเมืองก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อภาพรวมธุรกิจแน่ หากยืดเยื้อไปอีกนาน”
ปัญหาหลักๆ ที่จะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้คือ
1. ภาคการนำเข้า ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยในขณะนี้ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร โดยเฉพาะระดับแมสกับรากหญ้า
2. ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก เพราะว่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่การส่งออกของไทยลดลงมาตลอด
3. ภาคการลงทุนของเอกชนไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงมาจากปัญหาการเมือง ทำให้นักลงทุนหวาดกลัวต่อการลงทุนในไทย มีหลายกลุ่มที่พิจารณาอาจจะย้ายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านเราแทน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น
4. ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ
5. ปัญหาเรื่องการจับจ่ายที่น่าเป็นห่วง
“ส่วนตัวแล้วมองว่าปัญหาการเมืองควรที่จะต้องจบลงให้เร็วที่สุดในรูปแบบใดก็ได้ที่ประเทศชาติไม่เสียหาย เพราะถ้าไม่จบการค้าการขายก็จะเดือดร้อนมาก การลงทุนก็ลดน้อยลง ถ้าสรุปแล้วปีนี้คงเป็นปีม้าขาแพลง ไม่ใช่ม้าทองคำ”
*** สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ***
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลประกอบการตลอดปี 2556 ภาพรวมค้าปลีกห่างเป้าหมาย โดยเฉพาะพื้นที่ในจุดสุ่มเสี่ยงทางการเมืองจากภาวะการเมืองที่ไม่มีท่าทีที่ชัดเจน มู้ดการจับจ่ายของผู้บริโภคไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาซึ่งควรเป็นช่วงที่ดีที่สุดแต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจค้าปลีกฯ ก็จะมีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจน ประกอบด้วย
1. ธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อยังเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากที่สุด
2. ร้านค้าเพื่อสุขภาพและความงามจะได้รับความสนใจและเติบโตต่อเนื่อง
3. การซื้อ-ขายผ่าน “ออนไลน์” จะพลิกโฉมจาก e market place สู่ e-tailing “ชอปปิ้งออนไลน์” ในไทยกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสู่ยุค e-Tailing หรือ Electronic Retailing
4. สัดส่วนการขยายสาขาของภาคธุรกิจคงจะเน้นไปยังพื้นที่ภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในปี 2560 สัดส่วนร้านค้าในต่างจังหวัดต่อสัดส่วนร้านค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็น 72% กับ 28%
5. กลยุทธ์การส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายจะมีเต็มตลาด จากกำลังซื้อที่ซบเซาต่อเนื่อง ภาวะการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติข้ามปีทำให้การก้าวข้ามสู่ปี 2557 ของทุกผู้ค้าปลีกที่ต้องระดมสรรพวิชาการตลาดช่วงชิงยอดขาย
*** สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ***
นายจรัญ หอมเทียนทอง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ (PUBAT) กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2557 ก็ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนตลาดหนังสือให้กลับมาเติบโตได้ เห็นได้จากปี 2556 ที่ผ่านมา จากรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้สนับสนุน หรือส่งเสริมให้รักการอ่านเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอ่านมากขึ้นแต่อย่างใด บวกกับมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นอีกด้วยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งกำลังซื้อก็มีค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผู้บริโภคจะนึกถึงคือหนังสือ ทำให้ในปีที่ผ่านมาตลาดหนังสือตกลงไปไม่ต่ำกว่า 10-20%
ดังนั้น ในปีนี้คาดหวังว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นใหม่จะมีนโยบายส่งเสริมให้รักการอ่าน เพื่อขับเคลื่อนให้ตลาดหนังสือกลับมามีการเติบโตเท่าปี 2555 ขณะเดียวกันหากค่าครองชีพของผู้บริโภคดีขึ้นก็น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหนังสือเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ยังมองว่ากลุ่มหนังสือประเภทธรรมะและให้กำลังใจ และที่เกี่ยวกับอาชีพ รวมถึงจำพวกเฉพาะกลุ่ม จะเป็นกลุ่มหนังสือที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับปี 2556 เพราะปัจจุบันคนไทยมีปัญหาในชีวิตค่อนข้างมาก ส่วนกลุ่มหนังสือที่ไม่ได้คุณภาพจะมียอดลดลง
ทิศทางของสำนักพิมพ์เกิดใหม่ในปี 2557 มองว่าจะมีอัตราส่วนการเกิดใหม่และหายไปเท่ากับปีที่ผ่านมาๆ ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก เพราะเป็นไปตามกลไกของตลาดมากกว่า
*** สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ***
นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ หรือ RSTA กล่าวว่า จากการที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ได้เข้ามาชุมนุมที่ราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำได้และควรมีการจัดการชุมนุมให้มีความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่สี่แยกราชประสงค์เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ทั้งในด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า และแหล่งไลฟ์สไตล์สำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการวันละประมาณ 250,000 คนต่อวัน สมาคมฯ จึงใคร่ขอวิงวอนให้กลุ่ม กปปส.อย่าชุมนุมยืดเยื้อจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ล่าสุดสมาคมฯ และสมาชิกฯ วางแผนจัดโปรโมชันกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เสนอโปรโมชันด้านชอปปิ้งไลฟ์สไตล์ ไดนิ่งไลฟ์สไตล์ มอบส่วนลดพิเศษสำหรับกลุ่มแฟชั่นลดสูงสุด 80% กลุ่มไดนิ่งลดสูงสุด 30% กลุ่มห้องพักโรงแรมลดสูงสุด 40% เป็นต้น