ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จบไปแล้วกับงาน“สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 12 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 42”ที่จัดควบรวมกันมาหลายปี โดยล่าสุดที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-จันทร์ที่ 7 เมษายน 2557 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในแนวคิด”โลกคือนิยาย (The World Is a Novel)”
ปีนี้ “นายจรัญ หอมเทียนทอง” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สรุปว่า ปิดฉากงานหนังสือปี 2557 ยอดทะลุ 1.9 ล้านคน เงินสะพัด 700 ล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดเท่าที่มีการจัดงานลักษณะนี้ในเมืองไทย
หากย้อนกลับไปดู 3 ปีที่จัดควบรวม
25 มีนาคม-6 เมษายน 2554 13 วัน ฟันเงินไป 400 ล้านบาท
29 มีนาคม-8 เมษายน 2555จากที่ประเมินไว้ว่าน่าจะมีผู้เข้างานประมาณ 1.5 ล้านคน แต่เมื่อสรุปผลในวันสุดท้ายปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมงานถึง 1.7 ล้านคน สูงกว่าที่คาดไว้ประมาณ 15% ส่วนยอดขายโดยรวมของงานสัปดาห์หนังสือนั้นอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท
29 มีนาคม-8 เมษายน 2556 สรุปจำนวนผู้เข้าชมงานอยู่ที่ 1.7 ล้านคน แต่น้อยกว่าการจัดงานในช่วงเดือนตุลาคม 2555 (มหกรรมหนังสือแห่งชาติ)ที่มีคนร่วมงานมากถึง 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 3 แสนคน ส่วนยอดขายอยู่ที่ 600 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วที่มียอดขาย 400 ล้านบาท
ภาพรวมในปี 2557 นายก PUBAT ระบุว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มีประมาณ 2 ล้านกว่าคน ถือว่าดีแล้วกับสถานการณ์การเมืองแบบนี้ และยังมากกว่าที่ประเมินไว้ตั้งแต่เริ่มต้นงานด้วย และมียอดขายสะพัดในงานมากกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้วแต่ก็ถือว่าดีในสถานการณ์เช่นนี้เช่นกัน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยในการซื้อหนังสืออยู่ที่ 400 กว่าบาทต่อคนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย
เขาเล่าว่า อีกเรื่องที่พบคือ “งบประมาณด้านหนังสือจากโรงเรียน” หายไปมาก ไม่มีการนำมาใช้กับงานหนังสือฯ ในปีนี้ จากปีที่ผ่านมายังพบว่ามีการใช้งบประมาณโครงการนี้อยู่บ้าง เนื่องมาจากในช่วงนี้รัฐบาลอยู่ในภาวะรักษาการและยังมีปัญหาวุ่นวายอยู่จึงทำให้งบโรงเรียนสะดุดไปก็เป็นได้
“ตอนแรกเรานึกว่าจะยกเลิกการจัดงานนี้ในปีนี้แล้วด้วยซ้ำ เพราะปัญหาต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดทุกปีไม่มีการยกเลิก แต่สุดท้ายแล้วปีนี้เราก็จัดงานต่อไม่ยกเลิก แต่ตอนที่แถลงข่าวว่าจะจัดงานเสร็จ หลังจากนั้นก็มีการประกาศชุมนุมใหญ่จากกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง เราก็กลัวเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมาได้ด้วยดี ซึ่งในช่วงแรกก็มีหลายสำนักพิมพ์เหมือนกันที่เขาไม่มั่นใจกับสถานการณ์บ้านเมือง ก็ขอถอนตัวจากการร่วมงานบ้างเหมือนกัน แต่เราก็เข้าใจ”
ปีนี้มีผู้ประกอบการหรือสำนักพิมพ์ต่างๆ เข้าร่วมงานมากกว่า 400 ราย และเป็นปีแรกที่กล่าวได้ว่ามีสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหรือระดับเอสเอ็มอีเข้าร่วมงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยประมาณ 10% จากผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดเป็นระดับเอสเอ็มอี
สิ่งที่พบในปีนี้จะเห็นได้ว่ามีวัยรุ่นมาร่วมงานมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และแนวหนังสือในปีนี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ 1. หนังสือแนววัยรุ่น 2. หนังสือแนวการ์ตูนลายเส้น 3. หนังสือแนวนิยายต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับกลุ่มที่มาเข้าร่วมงานในปีนี้ที่ว่ามีวัยรุ่นเข้ามามาก ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าประชากรไทยวัยรุ่นหันมาให้ความสำคัญต่อการอ่านหนังสือมากขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้โลกโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้นก็ตาม
นอกจากนั้น ในแง่ของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่คาดกันว่าจะเป็นสิ่งที่เข้ามาทำลายตลาดหนังสือนั้น นายจรัญกล่าวให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาวงการหนังสือเคยกลัวว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้คนอ่านหนังสือลดน้อยลง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จากหลายสำนักพิมพ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าโซเชียลมีเดียและหนังสือสามารถส่งเสริมกันได้ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารและสร้างความรุ้สึกอยากอ่านให้แก่ผู้อ่าน วิธีการสื่อสารระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้อ่านด้วยโซเชียลมีเดียถือว่าได้ผลอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งตลาดหนังสือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ปีที่แล้ว 2556 PUBAT จัดงานภายใต้แนวคิด “Read For Life” หรือ “การอ่านคือการพัฒนาชีวิต” ได้ตลาดเป็นกลุ่มวัยรุ่นและทำงานที่มีอายุในระหว่าง 15-30 ปี โดยมีลักษณะชักชวนกันมาเป็นกลุ่มๆ เพื่อเลือกซื้อหนังสือด้วยกัน หมวดหนังสือขายดีสูงสุดเป็นกลุ่มของหนังสือแนวคอมมิกส์ หรือการ์ตูน รองมาคือหมวดนวนิยาย
หรือในปี 2555 ที่เพิ่งฟื้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่สามารถทำยอดขายโดยรวมได้ถึง 400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 % โดยมีวรรณกรรมเยาวชน นวนิยาย รวมถึงการเมือง สังคม ปรัชญา และศาสนา ได้รับความสนใจ
สำหรับงานสัปดาห์หนังสือในปี 2557 นี้ ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ต ก็ถือเป็นจุดหนึ่งที่สร้างความสนใจในตัวงาน และตัวของหนังสือที่ค่ายหนังสือต่าง ๆระดมกำลังประชาสัมพันธ์ผ่านเวปไซด์หรือในแฟนเพจเฟซบุ๊ค เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ทำให้คนมาชมงานมากขึ้น และประสบผลสำเร็จโดยรวม
แต่สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ร่วมงาน ยังไม่มีใครรู้ว่า ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ จากข้อมูลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ต พบว่า เดี๋ยวนี้หลายๆ สำนักพิมพ์ (โดยเฉพาะสำนักเล็กๆ ) เขาไม่ขายตามร้านหนังสือขนาดใหญ่แล้ว เนื่องจากสู้ต้นทุนไม่ไหว เพราะต้องพิมพ์จำนวนมากเพื่อกระจายไปตามสาขา แต่เมื่อเงินไม่ได้ เสียค่าจัดจำหน่ายก็แพง
หนทางที่จะอยู่รอด และมีชื่อเสียงของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ จึงต้องมาพิมพ์ขายวางในงานหนังสือแบบนี้ในลักษณะ ขายตรง ก็ได้กำไรเยอะ เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์มาก
“เสร็จงานก็ไปซุ่มทำต้นฉบับเรื่องใหม่ เอามาวางขายในงานครั้งต่อไป”
เพราะข้อดีของงานนี้คือ ซื้อหนังสือได้ถูกกว่าตามร้าน และหนังสือจำนวนมากก็หาไม่ได้ตามร้านเลยด้วย
ความพิเศษคือ มีของแถม มีนักเขียนแจกลายเซ็น รวมถึงเวทีสนทนาประเด็นต่างๆตามแต่สำนักพิมพ์จะจัด
โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ต ยังตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนคนที่มากขึ้นจากงานหนังสือ เริ่มมีอะไรที่ไม่ใช่หนังสือ มาขายเยอะขึ้น จากกลุ่มคนทีเข้ามา ซื้อหนังสือ พบว่า เป็นครอบครัว เด็ก และคนแทบจะทุกกลุ่ม จนกระทั่งมีกา ขายของหลายอย่างมากมาย เต็มพื้นที่ จนน่าจะเรียกว่า เป็นมหกรรมสินค้า Expo มีตั้งแต่ อาหารเสริม เคสมือถือ ของกิน หลายหลายสารพัด รวมถึงสินค้าของเล่นเด็ก
นี้คือภาพรวมจากผู้จัดและคนไปชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2557
วันปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พอดีกับที่ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” เปิดเผย ผลการสํารวจการอ่านหนังสือของประชากร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2556
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกว่า ผลการสํารวจการอ่านหนังสือของประชากร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2556 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน
ผลการสำรวจพบว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน ร้อยละ 81.8 ผู้ชายมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 82.8 สูงกว่าผู้หญิงร้อยละ 2 และเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2554 พบว่ามีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทั้งในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง
โดยกลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดถึง ร้อยละ 95.1 รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน (ร้อยละ 90.1) กลุ่มวัยทำงาน (ร้อยละ 83.1) และต่ำสุด คือ กลุ่มวัยสูงอายุ (ร้อยละ 57.8)
ขณะที่หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือประเภทที่มีการอ่านมากสุด ร้อยละ 73.7 รองลงมาคือ วารสาร/เอกสารประเภทที่ออกเป็นประจำ (ร้อยละ 55.1) ตำรา/หนังสือ/เอกสารที่ให้ความรู้ (ร้อยละ 49.2) นิตยสาร (ร้อยละ 45.6)
สำหรับนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่านน้อยกว่าร้อยละ 40.0 (ร้อยละ 38.5 และ 29.5 ตามลำดับ)
ขณะที่เนื้อหาประเภทข่าว มีผู้ชอบอ่านมากที่สุด (ร้อยละ 54.3) รองลงมา คือ สารคดี/ความรู้ทั่วไป (ร้อยละ 36.4) บันเทิง (ร้อยละ 32.2) ความรู้วิชาการ (ร้อยละ 23.2) และคำสอนทางศาสนา (ร้อยละ 13.4)
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ 5 อันดับแรก คือ ร้อยละ 39 เห็นว่า หนังสือควรมีราคาถูกลง ร้อยละ 26.3 ต้องปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่/ครอบครัว ร้อยละ 25.2 ต้องให้สถานศึกษารณรงค์ส่งเสริมการอ่าน และส่งเสริมให้มีห้องสมุด/ห้องสมุดเคลื่อนที่/มุมอ่านหนังสือในชุมชน/พื้นที่สาธารณะ อีกร้อยละ 23.2 เห็นว่าต้องทำรูปเล่ม/เนื้อหาน่าสนใจหรือใช้ภาษาง่าย ๆ
พฤติกรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2556 เป็นคนไทยที่ไปงานหนังสือปี 2557 1.9 ล้านคน ทำให้มีเงินสะพัดในการจับจ่ายหนังสือถึง 700 ล้านบาท มากว่าปีก่อนๆ