สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เผยความหวังผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือใน AEC ใกล้ความเป็นจริงหลังต่างชาติสนใจหนังสือไทยมากขึ้น พร้อมสรุปผลจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ได้ผลเกินคาด คนไทยแห่ร่วมชมงานกว่า 1.7 ล้านคน ดันยอดขายหนังสือกว่า 600 ล้านบาท ระบุหนังสือการ์ตูนครองแชมป์ขายดี นำหมวดธรรมะ จิตวิทยา บริหารตลาดเงิน ส่วนเทรนด์หนังสือมาแรงเป็นแนว “ไลท์ โนเวล” คล้ายการ์ตูนกึ่งนิยายภาพ
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวถึงการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “Read For Life” หรือ “การอ่านคือการพัฒนาชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค. - 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า การจัดงานครั้งนี้ใช้พื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร โดยมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานกว่า 420 สำนักพิมพ์ มีจำนวนบูธเพิ่มขึ้นรวมกว่า 950 บูท ทั้งยังมีสำนักพิมพ์จากประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี ร่วมออกบูธอีก 24 บูท นอกจากนี้ยังมีการใช้พื้นที่ห้องบอลรูมกว่า 1,000 ตารางเมตร เพื่อทำเป็น “ถนนสายการ์ตูน” อีกด้วย
การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย ทั้งในแง่ของผู้เข้าร่วมชมงานและยอดขายหนังสือรวมซึ่งเพิ่มขึ้นจากการจัดงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมาถึง 16% โดยจำนวนผู้เข้าร่วมชมงานเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านคนเป็น 1.7 ล้านคน ขณะที่ยอดขายหนังสือรวมเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านบาทเป็น 600 ล้านบาท
“ในแง่ของผู้มาร่วมงานในปีนี้มีความน่าสนใจคือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและทำงานที่มีอายุในระหว่าง 15-30 ปี โดยมีลักษณะชักชวนกันมาเป็นกลุ่มๆ เพื่อเลือกซื้อหนังสือด้วยกัน โดยบางคนที่มางานหนังสือแม้จะไม่มีหนังสือเป้าหมายที่ต้องการซื้ออย่างชัดเจน แต่ก็มีพฤติกรรมการซื้อด้วยการเลือกหาหนังสือที่ถูกใจและต้องการอ่าน อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจจากการจัดงานครั้งนี้คือมีเด็กผู้ชายเป็นจำนวนมากขึ้น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเรามีการจัดกิจกรรมถนนสายการ์ตูนทำให้พวกเขามีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น”
สำหรับหมวดหนังสือขายดีสูงสุดเป็นกลุ่มของหนังสือแนวคอมมิกส์ หรือการ์ตูน รองมาคือหมวดนวนิยาย ซึ่งถือเป็นหนังสือที่อ่านเพื่อสาระบันเทิง ส่วนหนังสือที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือหนังสือแนวธรรมะ หรือแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเองที่มีอัตราการพิมพ์และการอ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และที่มาแรงช่วงนี้คือหนังสือแนวเกี่ยวกับการบริหารเงิน การบริหารตลาดเงิน-ตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นหนังสืออีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ที่ชอบชีวิตอิสระให้เงินทำงานแทนตน
“จะว่าไปแล้วหนังสือที่ขายดีในการจัดงานครั้งนี้ไม่ถึงกับมีเล่มที่เด่นระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์ แต่จะมีความหลากหลายของประเภทหนังสือและกลุ่มคนอ่านที่น่าสนใจมาก โดยหนังสือแนวหนึ่งที่มาแรงและน่าสนใจมาก คือ ไลท์ โนเวล ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล็ก คล้ายการ์ตูนกึ่งนิยายภาพ ซึ่งขยายตัวขึ้นมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเด็กและวัยรุ่นชาย”
นายวรพันธ์ยังเปิดเผยถึงการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือในการจัดงานครั้งนี้ด้วยว่า ถือเป็นปีที่ได้รับการตอบรับอย่างน่าชื่นใจ เพราะมีสำนักพิมพ์จากต่างประเทศสนใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือไทยไปแปลมากขึ้น โดยเฉพาะไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยหนังสือที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่เป็นหนังสือสำหรับเด็ก นวนิยาย และหนังสือภาพต่างๆ ที่มีความเป็นสากล ทำให้ความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายลิขสิทธิ์ในอาเซียนมีความชัดเจนมากขึ้น
“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์ไทยมีความเข้มแข็งในระดับต้นๆ และประสบความสำเร็จจากการซื้อขายลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ AECแล้ว การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้สูง แต่สำนักพิมพ์เองก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองและสร้างจุดเด่นให้แตกต่างด้วย”
นายวรพันธ์กล่าวด้วยว่า การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติถือเป็นเพียงการวัดสถานการณ์ความสนใจทางการอ่านได้เพียงในภาคส่วนของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น เพราะนักอ่านส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มนี้เนื่องจากมีความสะดวกในเรื่องการเดินทาง สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงพยายามที่จะขยายโอกาสทางการอ่านไปต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น เพราะต่างจังหวัดยังมีร้านหนังสือไม่มากนัก รวมไปถึงความหลากหลายของหนังสือก็ยังคงมีน้อย
“การอ่านหนังสือไม่ควรจะกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาสมาคมฯ ก็พยายามจะจัดงานในต่างจังหวัด ซึ่งนอกจากจะมีการจำหน่ายหนังสือในราคาพิเศษแล้ว เรายังจัดอบรมสัมมนากิจกรรมทางการอ่านต่างๆ ด้วย โดยในปี 2556 นอกจากสมาคมฯ จะมีการกำหนดจัดงานที่จังหวัดชลบุรีและอุบลราชธานีแล้ว ยังมีการเจรจาที่จะจัดเพิ่มขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาด้วย”