“ชัชชาติ” จี้ ขสมก.เร่งแผนสร้างอู่และปั๊มก๊าซ NGV รับรถเมล์ใหม่ 3,183 คัน หวั่นไม่ทันรับมอบรถล็อตแรก ด้าน ขสมก.ยอมรับล่าช้า เหตุต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เร่งถก ปตท.เตรียมแผนสำรอง ยัน 6 อู่แรกได้งบปี 57 แล้ว พร้อมประมูลก่อสร้าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งรัดเรื่องการก่อสร้างอู่จอดรถพร้อมสถานีบริการก๊าซ NGV สำหรับรองรับรถเมล์ใหม่จำนวน 3,183 คันที่จะจัดซื้อเข้ามาใหม่ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการ และหากการจัดซื้อรถเข้ามาให้บริการในปี 2557 แต่ไม่มีปั๊มเติมก๊าซที่เพียงพอจะมีปัญหา ส่วนการยุบสภาไม่ส่งผลต่อโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV เนื่องจากโครงการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการประกวดราคาเท่านั้น
ด้านนายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ และรักษาการแทนผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอู่จอดพร้อมสถานีบริการก๊าซNGV สำหรับรองรับรถเมล์ใหม่จำนวน 3,183 คันว่า ตามแผนจะต้องมีอู่และสถานีก๊าซ NGV รวมทั้งสิ้น 13 แห่ง ซึ่งจะเป็นสถานีที่ตั้งอยู่ตามแนวท่อก๊าซประมาณ 7 แห่ง ส่วนที่เหลือจะใช้รถขนส่งก๊าซเข้าไปยังสถานีแทน โดยเบื้องต้นได้ประสานกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเร่งรัดในการเชื่อมต่อเข้ากับท่อก๊าซให้เสร็จทันกับการรับมอบรถเมล์ NGV ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ยอมรับว่าการก่อสร้างสถานีเติมก๊าซ NGV อาจจะล่าช้ากว่าแผนดังนั้นจึงได้เตรียมแผนสำรองไว้รองรับ โดยทาง ปตท.จะจัดสรรให้รถเมล์NGV เข้าไปเติมก๊าซในสถานีของ ปตท.ที่ให้บริการโดยเอกชนในจุดที่ใกล้กับตำแหน่งสถานีที่ ขสมก.กำหนดไว้ พร้อมจัดตารางการเติมก๊าซแยกจากรถบรรทุก รถแท็กซี่ และรถอื่นๆ ที่ใช้บริการอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้มีความแออัด และกระทบต่อบริการ
“ในการก่อสร้างปั๊ม NGV จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปตท. โดย ปตท.แจ้งว่าได้ดำเนินการคู่ขนานไปแล้ว แต่คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง และส่งผลให้ปั๊มเสร็จไม่ทันกับรถเมล์ NGV ที่จะเข้ามา ในขณะที่ ขสมก.เองก็มีการรับมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าแผนด้วย ต้องวางแผนสำรองร่วมกัน” นายนเรศกล่าว
โดยในปี 2557 ขสมก.ได้รับงบประมาณสำหรับก่อสร้างแล้ว 6 แห่ง วงเงิน 226 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว 3 แห่ง เตรียมพร้อมเปิดประมูลก่อสร้างแบบอี-ออกชัน โดยอยู่ระหว่างกำหนดราคากลาง ได้แก่ อู่พระประแดง 2 แห่ง และอู่นครอินทร์อีก 3 แห่ง คือ อู่กัลปพฤกษ์ อู่บรมราชชนนี และอู่ปู่เจ้าสมิงพราย อยู่ระหว่างออกแบบ โดยตั้งเป้าลงนามสัญญาก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ทั้งหมด
ส่วนที่เหลืออีก 7 แห่งนั้นจะเสนอของบประมาณ 2558 วงเงินประมาณ 700 ล้านบาท และจะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2558 โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 เดือนต่อแห่ง สำหรับตัวสถานีและอู่จอดรถจะเป็นการก่อสร้างลานจอดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวอาคารมีทั้งแบบชั้นเดียวและแบบ 2 ชั้นขึ้นกับข้อกำหนดของพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานราชการด้วยกัน เช่น กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.)