xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดกทพ.เคาะลงทุนด่วนพระราม3-วงแหวนฯเอง เมินPPP -รอตั้งครม.ชุดใหม่เสนอได้ทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
บอร์ดกทพ.ชะลอเสนอโครงการทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-ถ.วงแหวน 2.78 หมื่นล.รอเสนอครม.ใหม่ "สุเมธ"เผยไม่กระทบมากคาดล่าช้าแต่ 2 เดือน ฟันธงกทพ.ลงทุนเองดีกว่าร่วมทุนเอกชน ทั้งเร็วกว่า ถูกกว่า แถมกำหนดค่าผ่านทางได้เองไม่มีเงื่อนสัญญาบีบบังคับ

พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 12ธ.ค. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการดำเนินโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 16.923 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 2.78 หมื่นล้าบาท ซึ่งได้สรุปผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเห็นว่ากทพ.ควรดำเนินการโครงการเองมีความเหมาะสมมากกว่าการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยพบว่า กรณีที่กทพ.ลงทุนเองจะทำให้รัฐอุดหนุนน้อยกว่า ดำเนินการโครงการได้เร็วกว่าการร่วมทุนที่มีขั้นตอนมาก และรัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขผูกมัดในสัญญากับเอกชน

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงครม.รักษาการ บอร์ดจึงเห็นว่า ควรชะลอการเสนอขออนุมัติโครงการออกไปก่อนจนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ ดงนั้นในระหว่างนี้จึงให้กทพ.จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างการลงทุนเองกับการร่วมทุนเอกชน เพิ่มเติม เพื่อความรอบคอบ ซึ่งหากเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เรียบร้อยมีครม.ชุดใหม่บอร์ดกทพ.จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าอาจจะทำให้โครงการล่าช้าจากแผนประมาณ 2 เดือน

"ตอนนี้เป็นช่วงที่ไม่เหมาะสม ควรรอครม.ใหม่พิจารณา ซึ่งกทพ.มีความพร้อมในการดำเนินโครงการเพราะศึกษาจบแล้ว และเบื้องต้นเห็นว่า ควรลงทุนเอง เพราะจะลดการอุดหนุนของรัฐลงเพราะดอกเบี้ยที่ภาครัฐกู้จะถูกกว่าเอกชนแน่นอน และยังทำได้เร็วกว่า ร่วมทุนต้องมีกรรมการพิจารณาฯ เสร็จแล้วต้องเสนอครม.อีก ขั้นตอนอีกเป็นปี ที่สำคัญ ลงทุนเอง กำหนดค่าผ่านทางเองไม่ต้องกังวลเรื่องขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา เป็นการดูแลเรื่องค่าครองชีพให้ประชาชนได้"พล.อ.อ.สุเมธกล่าว

โดยตามผลการศึกษาความเหมาะสม พบว่า หากกทพ.ลงทุนเองภาครัฐจะอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,196.72 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 15,597.79 ล้านบาท รวม 17,794.51 ล้านบาท ส่วนกรณีเอกชนร่วมทุน ภาครัฐจะอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,196.72 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 17,620.34 ล้านบาท รวม 19,817.06 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจสูงสุด (EIRR) 22.25% มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8%เท่ากัน กทพ.ลงทุนเองรัฐอุดหนุนน้อยกว่าประมาณ 2,022.55 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น