กทพ.เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ 2.7 หมื่นล้าน ต้นปี 57 ผุดสะพานข้ามเจ้าพระยาคู่สะพานพระราม 9 ช่วยลดแออัด เล็งลงทุนเองคุ้มกว่ารูปแบบ PPP ร่วมทุนเอกชน ตัดปัญหาเงื่อนไขสัญญาของ BECL พร้อมเร่งเดินหน้าทางด่วนข้ามพรมแดน ที่สะเดานำร่อง รับ AEC และเตรียมควัก 1,500 ล้านจ่ายค่าชดเชย ร.ฟ.ท.ใช้ก่อสร้างตอม่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงาน ในปี 2557 ว่า คาดว่าช่วงต้นปีจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 16.923 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาได้สรุปผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นโครงการแรก และหลังจากนั้นจะเสนอโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง (อุโมงค์ภูเก็ต) ระยะทาง 3.9 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 8.37 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างเร่งศึกษาฯ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยรัฐบาลจะต้องพิจารณารุปแบบการลงทุนระหว่างให้ กทพ.ลงทุนเอง หรือร่วมทุนกับเอกชน (PPP)
ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ นั้น จะเชื่อมจากทางด่วนขั้นที่ 1 (เฉลิมมหานคร) มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ช่องจราจรขนานไปทางทิศใต้ของสะพานพระราม 9 และไปตามถนนพระราม 2 สิ้นสุดที่ถนนวงแหวนฯ เพื่อระบายการจราจรบนสะพานพระราม 9 ซึ่งผลศึกษาพบว่า กทพ.ควรดำเนินการเอง เพราะภาครัฐจะอุดหนุนโครงการน้อยกว่าการร่วมทุนกับเอกชนประมาณ 2,143.16 ล้านบาท โดยรัฐจะอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,196.72 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 15,597.79 ล้านบาท รวม 17,794.51 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจสูงสุด (EIRR) 22.25% รวมทั้งหาก กทพ.ดำเนินโครงการเองจะไม่ต้องพิจารณาเรื่องการได้รับการพิจารณาก่อน (First Consideration) ตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ในกรณีก่อสร้างหรือดำเนินการส่วนต่อขยายของระบบทางด่วนขั้นที่ 2
นอกจากนี้ คาดว่าต้นปี 2557 จะสามารถเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมโครงการทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ (วงแหวนใต้) กับมอเตอร์เวย์สาย 9 ของกรมทางหลวง (ทล.) ได้ อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในข้อกฎหมายประเด็นเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เช่น กรมสรรพากร เนื่องจาก กทพ.จ่าย VAT แต่กรมทางหลวงไม่จ่าย ส่วน กทพ.ได้เตรียมความพร้อมในการเชื่อมระบบไว้แล้ว
สำหรับโครงการทางพิเศษเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นายอัยยณัฐกล่าวว่า ขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาทางพิเศษเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ด่านสะเดา วงเงินศึกษาง 28 ล้านบาท ระยะเวลา 10 เดือน กำหนดแล้วเสร็จ ในเดือนสิงหาคม 2557 และจะมีการศึกษาอีก 3 จุด คือ ด่านเชียงของ ด่านมุกดาหาร และด่านแม่สอด
โดยจะรอผลสรุปการศึกษาที่ด่านสะเดาที่ถือว่าเป็นจุดที่มีศักยภาพมากเนื่องจากมีปริมาณสินค้าผ่านจำนวนมาก หากมีความเหมาะสมคุ้มค่าจะเดินหน้าศึกษาในอีก 3 จุดต่อไป รวมถึงมีแผนที่จะศึกษาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ เชียงราย-เชียงใหม่ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางเนื่องจากเส้นทางถนนผ่านภูเขาระยะทาง 40 กม.เศษต้องใช้เวลา กว่า 2 ชม.
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมาณ 200 ไร่ นั้น ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ที่มี พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้จ่ายค่าชดเชยให้ ร.ฟ.ท.เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท โดยความคืบหน้าการก่อสร้างล่าสุดอยู่ที่ 10% ล่าช้ากว่าแผน 0.4% ซึ่งสามารถเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามแผนได้
สำหรับการชุมนุมทางการเมืองและมีการเดินขบวนไปยังจุดต่างๆ นั้น ในภาพรวมไม่กระทบต่อการจราจรบนทางด่วน ซึ่งหากมีการปิดทางขึ้นลงจุดใด จะมีการประสานกับตำรวจและรายงานสถานการณ์ผ่านทุกช่องทางไปยังผู้ใช้ทางเพื่อหลีกเลี่ยง โดยยอมรับปริมาณรถบนทางด่วนเบาบางลงบ้างในขณะนี้