xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ชงบอร์ดเคาะจ่ายชดเชยค่าที่ดิน ร.ฟ.ท.ไม่เกิน 4 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” เคาะ กทพ.จ่ายชดเชย ร.ฟ.ท. 55% แต่ไม่เกินวงเงิน 4พันล้านบาท หวั่นค่าเวนคืนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ บาน ด้าน กทพ.ชงบอร์ดพิจารณาวันนี้ (11 ก.ค.) ยันส่งมอบพื้นที่ไม่มีปัญหา ก่อสร้างยังตามแผน ขณะที่สรุปให้รถไฟความเร็วสูงสายใต้ก่อสร้างคร่อมรถไฟทางไกลเดิม โดยปรับรถทางไกลไปใช้ทางร่วมกับสายสีแดงแทน

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) กรณีที่ กทพ.ต้องใช้พื้นที่เขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกนั้น ล่าสุด กทพ.ได้หารือกับ ร.ฟ.ท.และได้ข้อยุติร่วมกันว่า กทพ.จะจ่ายค่าชดเชยการขอใช้ประโยชน์ที่ดินให้ ร.ฟ.ท. 55% ของค่าชดเชยมาตรฐานของเอกชน จากเดิมที่กำหนด 25% ตามที่ ร.ฟ.ท.ต้องการ แต่วงเงินของอัตรา 55% จะต้องไม่เกิน 4,000 ล้านบาทตามที่ กทพ.ตั้งกรอบไว้ โดย กทพ.จะนำข้อสรุปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่มี พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธาน ในการประชุมวันนี้ (11 ก.ค.)

ทั้งนี้ กทพ.ยืนยันว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ผู้รับสัมปทานโครงการของ กทพ.เพื่อดำเนินการก่อสร้างได้ตามกำหนดเวลา โดยขณะนี้ในส่วนของ BECL ยังดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานที่วางไว้ โดยโครงการก่อสร้างทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกกรุงเทพมหานครจะมีบางช่วงที่โครงสร้างคร่อมอยู่บนแนวเส้นทางของ ร.ฟ.ท.ที่จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง BECL จึงรับผิดชอบในการวางเสาตอม่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไว้ก่อนด้วย ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะส่งแบบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ โดย BECL จะต้องสำรองจ่ายค่าก่อสร้างในส่วนของเสาตอม่อรถไฟความเร็วสูงไปก่อนและเบิกค่าก่อสร้างหลังจากโครงการรถไฟความเร็วสูงได้รับอนุมัติ

“จากการหารือกับ ร.ฟ.ท.ก่อนหน้านี้ กทพ.ยอมจ่ายค่าชดเชยเพิ่มเป็น 55% ตามที่ ร.ฟ.ท.ขอ เพราะตามหลักเกณฑ์ หากพื้นที่มีเสาตอม่อที่ดินตรงนั้นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต้องจ่ายค่าชดเชย 100% แต่ถ้ายังสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้จะจ่ายชดเชยที่ 25%ซึ่งกรณีของ ร.ฟ.ท.นั้นแม้จะชดเชย 55% คิดเป็นเงินต้องไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบที่ กทพ.มี หากเกินคงจ่ายไม่ได้เพราะจะกระทบต่อวงเงินรวมของโครงการ” พล.ต.อ.วิเชียรกล่าว

ส่วนการใช้เขตทางรถไฟร่วมกันระหว่างรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการทางพิเศษศรีรัชฯ นั้นได้ข้อสรุปว่า รถไฟความเร็วสูงช่วงวงแหวนกาญจนาภิเษก-ทางแยกต่างระดับบางซื่อจะก่อสร้างบนพื้นที่ซึ่งเป็นรถไฟทางไกลในปัจจุบัน และให้ปรับรถไฟทางไกลไปใช้ทางร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาแนวทางการติดตั้งอุปกรณ์ระบบอาณัติสัญญาณเพิ่มเติมในการเดินรถร่วมกัน (Share Track)
กำลังโหลดความคิดเห็น