xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแบบทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ รอรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คมนาคมสั่ง กทพ.ประสาน ร.ฟ.ท.เร่งออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายใต้ เหตุพื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ก่อนประสาน BECL ปรับแบบฐานรากทางด่วนรองรับ ส่วนเวนคืนด่วนศรีรัชคืบ 79% จ่ายค่าเวนคืนแล้ว 2 พันล้าน ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างช่วงกลางแล้วบางส่วน คาดครบ 100% ใน ก.พ. 57

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.5 กิโลเมตรว่า แนวเส้นทางใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งล่าสุดจะมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ของรัฐบาล บริเวณหมอชิต 2 และจากบางบำหรุ-ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร ในขณะที่ทางด่วนศรีรัชต้องเริ่มก่อสร้างก่อน ดังนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม สั่งการให้ กทพ.หารือร่วมกับ ร.ฟ.ท.เพื่อเจรจาปรับแบบให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ เพื่อประสานกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เพื่อปรับแบบและเป็นผู้ก่อสร้างในช่วงดังกล่าวให้สอดคล้องกันทั้งทางด่วนและรถไฟความเร็วสูง

ส่วนการเวนคืนที่ดินในพื้นที่ก่อสร้างขณะนี้ กทพ.สามารถส่งมอบพื้นที่ช่วงกลางโครงการ บริเวณจากบางกรวยถึงแถวถนนราชพฤกษ์ให้ผู้รับเหมาได้แล้ว และผู้รับเหมาเตรียมทยอยเข้าพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้ เหลือเพียงช่วงต้นและท้ายโครงการ คือ ตั้งแต่หมอชิต 2 ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และช่วงถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก บริเวณโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ที่ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ โดยความก้าวหน้าของงานอยู่ที่ 79% คิดเป็นเงินที่เวนคืนไปแล้ว 2,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ถูกเวนคืนทั้งสิ้น 600 ราย ที่ดิน 800 แปลง โดยมีงบประมาณในการเวนคืนที่ดินทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินของ ร.ฟ.ท.กว่า 4,000 ล้านบาท ที่ดินของเอกชน 5,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเวนคืนที่ดินให้ครบ 100% ในเดือน ก.พ.2557 อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้ถูกเวนคืนมายื่นขออุทธรณ์แล้ว 300 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์เป็นรายๆ ไป โดยการจ่ายค่าเวนคืนจะพิจารณาจากราคาประเมินที่ดิน บวกค่าเสียประโยชน์ และจะบวกเพิ่มอีก 50% สำหรับที่ดินที่เป็นย่านธุรกิจการค้า

สำหรับโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร แนวสายทางเริ่มต้นที่ทางพิเศษศรีรัช โดยมีจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้นแนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนี จนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) โดยท้องที่ที่ถูกเวนคืน ได้แก่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น