xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแบบรถไฟความเร็วสูงแนวทับกับด่วนศรีรัชฯ-วงแหวนยังไม่ลงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมเ
“คมนาคม”ถกปรับแบบก่อสร้างรถไฟความเร็งสูงสายใต้ช่วงทับซ้อนกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เร่งสรุปในสัปดาห์หน้า เหตุใช้แนวรถไฟก่อสร้างร่วมกัน เล็ง 3 ทางเลือก สร้างเป็นอุโมงค์รถไฟความเร็งสูงมุดลงใต้ดินหรือหากยกระดับต้องเลือกระหว่างแยกโครงสร้างหรือใช้ร่วมกับทางด่วน

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการปรับโครงสร้างของรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน กับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร วานนี้ (21 พ.ค.) ว่า ทั้ง 2 โครงการมีปัญหาโครงสร้างทับซ้อนกันเนื่องจากต้องก่อสร้างบนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตั้งแต่ถนนราชพฤกษ์-บางบำหรุ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรซึ่งมีพื้นที่เขตทางจำกัด โดยเบื้องต้นบริษัทที่ปรึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และที่ปรึกษาโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนฯ ได้หารือร่วมกันและเสนอการก่อสร้าง 3 ทางเลือกในแนวเส้นทางที่ทับซ้อนกัน คือ 1. ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นอุโมงค์ใต้ดินลอดใต้ทางรถไฟปัจจุบันของ ร.ฟ.ท.และยกระดับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ 2. ก่อสร้างเป็นทางยกระดับทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางด่วนโดยแยกโครงสร้างจากกัน แนวเส้นทางจะคู่ขนานกันไป 3. ก่อสร้างเป็นทางยกระดับทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางด่วนโดยใช้โครงสร้างฐานรากร่วมกัน

ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.หารือร่วมกับสนข.กรณีที่เคยศึกษาให้รถไฟดีเซลของ ร.ฟ.ท.ใช้ทางร่วมกับรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) หรือ Share Track ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่เขตทางรถไฟเหลือเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่แนวทางนี้มีปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาระหว่างรถไฟสีแดงกับรถไฟดีเซลโดยจะต้องเร่งสรุปเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุดภายในสัปดาห์หน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เนื่องจากขณะนี้กางทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ผู้รับสัมปทานไปแล้ว

นอกจากนี้ยังจะต้องมีการปรับแนวทางด่วนช่วงบางกอกน้อยเพื่อเลี่ยงสะพานกลับรถ (ยูเทิร์น) เดิมไม่ให้ได้รับผลกระทบซึ่งอาจจะต้องเวนคืนเพิ่มเติม และแก้ปัญหากรณีที่ชาวหมู่บ้านภาณุรังสีร้องเรียน ขอให้ก่อสร้างสะพานกลับที่อยู่ใกล้กับจุดเดิมที่ร.ฟ.ท.รื้อทิ้งเพื่อก่อสร้างรถไฟสายสีแดงไปก่อนหน้านี้โดยอยู่ระหว่างพิจารณาหาพื้นที่ใหม่จากเดิมที่จะก่อสร้างโดยใช้พื้นที่ของวัดสนามใน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเป็นโบราณสถาน

สำหรับโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร เริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้นแนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนีจนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) โดยมีกรอบงบประมาณเวนคืนทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินของ ร.ฟ.ท.กว่า 4,000 ล้านบาท ที่ดินของเอกชน 5,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น