ศูนย์ข่าวภูเก็ต - การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เดินหน้าโครงการอุโมงค์ป่าตอง จัดปัจฉิมนิเทศให้ความรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คาดใช้เงินกู้ในการก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท ทำ 2 อุโมงค์ 4 ช่องจราจร เริ่มดำเนินการได้ปี 58 คาดเสร็จเปิดใช้ได้ 2561 ยันจ่ายค่าเวนคืนเป็นธรรม 20 ราย 1,000 กว่าล้าน ขณะที่ชาวบ้านบ้านมอญเสนอให้เลือกเส้นทางใหม่กระทบประชาชนน้อยสุด
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (24 เม.ย.) ที่โรงแรมแรมเมโทรโพล ภูเก็ต การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต (โครงการอุโมงค์ป่าตอง) โดยมี นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. เป็นประธาน ซึ่งมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ป่าตอง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า โครงการพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการอุโมงค์ลอดเข้าหาดป่าตอง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจราจร โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ กทพ. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งทาง กทพ.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเซี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซับแต้นท์ จำกัด บริษัท ดีทู คอนซัลท์ เอเชีย จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดอุโมงค์ลอดเขาป่าตอง รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงข่ายทางพิเศษส่วนต่อเชื่อมจากทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ไปยังอำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ โดยมีระยะเวลาศึกษาและออกแบบรายละเอียด 15 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2556 ถึง วันที่ 14 พ.ค.2557
จาการศึกษาแนวทางเลือกของโครงการ ปรากฏว่า ทางเลือกที่ 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีจุดเริ่มต้นที่ถนนผังเมืองรวมสาย ก. บริเวณใกล้อาคาร APK Resort จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อถึงประมาณ กม.0+370 ถนนจะเริ่มแยกออกจากกันเข้าสู่ช่วงโครงสร้างอุโมงค์ลอดใต้เขานาคเกิด และสิ้นสุดอุโมงค์ที่ กม.1+970 รวมความยาวอุโมงค์ประมาณ 1,600 เมตร โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 4029 ประมาณ กม.0+850 รวมความยาวทั้งสิ้น 3.07 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ 4 ช่องทางจราจรไป-กลับ มีเลนจักรยานยนต์ และมีช่องทางในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ป่าตองได้หากเกิดคลื่นสึนามิ
นายอัยยณัฐ กล่าวอีกว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว จะมีการรับฟังความคิดเห็นอีกหนึ่งครั้งในเดือน ส.ค.2556 นี้ เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนอขอความเห็นชอบโครงการต่อกระทรวงคมนาคมในช่วงปลายปี 2557 ซึ่งตามแผนที่วางไว้ในช่วงต้นปี 2558 จะอยู่ในขั้นตอนการหาผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างโครงการ ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี โดยงบประมาณในการก่อสร้างในเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ทาง กทพ.จะใช้เงินกู้ในการดำเนินการ และต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ในการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่ชุมชนบ้านมอญ ประมาณ 20 ราย ซึ่งเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินการโครงการนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนในชุมชนบ้านมอญที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางบริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการดำเนินการโครงการต่างๆ ยอมจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยในแง่ของการเวนคืนนั้นจะมีการดำเนินการให้เป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งในจุดนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ที่เป็นปัญหาน่าจะอยู่ในแง่ของความผูกพันที่มีต่อชุมชนที่อยู่กันช้านานแล้ว
ส่วนค่าผ่านทางนั้น นายอัยยณัฐ กล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นการศึกษา แต่คาดว่าจะไม่น่าจะเกิน 20-50 บาทต่อเที่ยว และรถจักรยานยนต์คันละ 10-20 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ทางพิเศษดังกล่าว
ขณะที่ นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง หรืออุโมงค์ป่าตองประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 90 เห็นด้วย ที่จะต้องดำเนินการ แต่ยอมรับหากมีการก่อสร้างเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัญหาที่สำคัญแบ่งออกเป็นเรื่องของกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินของชาวบ้าน เพราะหากมีการดำเนินการเกิดขึ้น ก็ต้องมีขั้นตอนการขอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น ทางเทศบาลฯ ต้องมองถึงข้อจำกัด ว่า การจ่ายเงินชดเชยมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งปัญหาวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความผูกพันกับถิ่นที่อยู่อาศัยมานาน ทางเทศบาลฯ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับประชาชนเหล่านี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
“ประชาชนทราบดีถึงประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ต้องไปดูเรื่องของความเป็นธรรมในเรื่องการเวนคืนที่ดินของภาครัฐ และโครงสร้างทางวิศวกรรมนั้น จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านด้านใดบ้าง อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ถนนเส้นเดิมก็จะยังใช้งานเหมือนเดิม พร้อมปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามกว่าเก่า ทั้งนี้ อาจต้องมีการบังคับให้รถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปใช้เส้นทางใหม่ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมา การจราจรบนถนนเส้นหลัก หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจะทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างยิ่ง” นายเปี่ยน กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม โครงการทางพิเศษสายนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก นอกจากสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าสู่เมืองป่าตองแล้ว ในอนาคตยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ารางเบาจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จึงทำให้การจราจรในจังหวัดนั้น เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีที่จะถึง
ขณะที่ นายจำรัส เอี่ยมสะอาด ชาวบ้านบ้านมอญ ต.ป่าตอง กล่าวว่า ในส่วนของชาวบ้านเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องของการจราจร ปัญหาอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเมืองป่าตองเป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ มีถนนที่เข้าสู่ป่าตองได้เพียงเส้นเดียว คือ ถนนสาย 4029 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้มีการศึกษาที่จะสร้างถนนเพื่อความปลอดภัย โดยไม่ได้นึกถึงสภาพแวดล้อม และขาดการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพียงให้เกิดอุโมงค์ขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของคนในชุมชม ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว เชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 ครัวเรือน เนื่องจากบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ใต้ทางยกระดับ รวมทั้งอาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ก็จะได้รับผลกระทบจากเสียง รวมทั้งความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ
ชาวบ้านจึงอยากเสนอให้ทางการทางพิเศษเลือกศึกษาเส้นทางในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเส้นทางที่ 7 ซึ่งจะเริ่มจากสี่แยกบริเวณถนนผังเมืองรวมสาย ก. ตัดกับถนนพระบารมี จากนั้นจะเป็นอุโมงค์ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร และสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 4029 บริเวณซอยคลินิก พญ.ชนิดา รวมความยาว 3.15 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางนี้จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และวิถีชีวิตของคนในชุมชนน้อยมาก และในอนาคตสามารถที่จะทำถนนเชื่อมต่อไปยังกมลาได้ ซึ่งจะทำให้ชาวกมลา และนักท่องเที่ยวในพื้นที่กมลาสามารถเดินทางเข้าตัวเมืองภูเก็ตได้สะดวกขึ้น
นายจำรัส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสร้างอุโมงค์ในเส้นทางที่ 2 นั้น แม้ว่าจะมีการทำทางยกระดับในช่วงที่ผ่านชุมชนบ้านมอญ แต่ยืนยันว่า ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนอยู่โดยเฉพาะเรื่องของเสียง ส่วนการจ่ายค่าเวนคืนในอัตราที่เป็นธรรม และให้ราคาสูงนั้นไม่แน่ใจว่าจะไปหาซื้อที่ดินในป่าตองได้หรือไม่ ปัจจุบันราคาที่ดินถนนในพื้นที่ถนนผังเมืองรวมสาย ก. มีราคาอยู่ที่ไร่ละประมาณ 80 ล้านบาท