“นิวัฒน์ธำรง” สบช่องถกอียูขอให้ยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าที่เคยได้ GSP ออกไปจนกว่าจะเจรจา FTA ไทย-อียูสำเร็จ หวั่นสินค้าไทยได้รับผลกระทบและผู้นำเข้าอียูต้องซื้อของแพง พร้อมขอแคนาดาอย่าเพิ่งตัด GSP ด้วย
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ไทยได้หารือกับนายดาเซียน ซิวลอส (Mr. Dacian Ciolos) กรรมาธิการยุโรปด้านเกษตรและการพัฒนาชนบทโดยได้แสดงความกังวลต่อการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป (อียู) จะกระทบต่อผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าของอียูทั้งอิตาลี อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่ได้แสดงความวิตกมาแล้ว ซึ่งไทยได้เสนอให้อียูแก้ปัญหาระยะสั้น โดยยกเว้นการเก็บอากรกับสินค้าประมงชั่วคราวหรือกำหนดโควตาภาษีกับสินค้าของไทยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น
โดยสินค้าสำคัญของไทยที่ได้รับประโยชน์จากสิทธิ GSP จากอียูได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ยานยนต์ขนส่ง กุ้งปรุงแต่ง ถุงมือยาง เลนส์แว่นตา เครื่องปรับอากาศยางนอกรถยนต์ และสับปะรดกระป๋อง
ทั้งนี้ ไทยยังได้มีการหารือถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาการตัด GSP โดยให้สินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA ทดแทนได้ทันทีหลังจากที่มีการเจรจาสำเร็จ โดยไทยและอียูกำลังจะมีการเจรจาครั้งที่ 3 ในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. 2556 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม
อย่างไรก็ตาม ไทยยังได้หารือกับอิตาลีซึ่งกำลังจะเป็นประธานสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยได้ขอให้ช่วยเหลือไทยในการแก้ไขปัญหาการถูกตัด GSP ด้วย
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า สำหรับการหารือกับ Mr.Edward Fast รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแคนาดา ได้มีการติดตามความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-แคนาดา ซึ่งในส่วนของไทยอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการเจรจาเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และคาดว่าจะเริ่มเจรจาได้ในช่วงต้นปี 2557
พร้อมกันนี้ ไทยได้หารือถึงกรณีที่แคนาดาจะตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยในวันที่ 1 ม.ค. 2558 ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่า รองเท้าสเกต เครื่องประดับทำจากโลหะเงิน เส้นก๋วยเตี๋ยว ถุงพลาสติกและอาหารปรุงแต่ง เนื่องจากจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ โดยไทยได้เสนอให้แคนาดาคงการให้สิทธิพิเศษดังกล่าวไปก่อนจนกว่าการเจรจาการค้าเสรีของทั้งสองประเทศจะมีผลบังคับ
ส่วนการหารือกับอิสราเอลได้ตกลงที่จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-อิสราเอลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำ FTA ระหว่างกัน และไทยยังได้ขอให้อิสราเอลสนับสนุนไทยในการเข้าร่วมอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติของอิสราเอล รวมทั้งการได้รับสัมปทานการสำรวจขุดเจาะก๊าซแหล่งเล็กของอิสราเอลด้วย
นอกจากนี้ยังได้หารือกับสมาพันธรัฐสวิส โดยได้หารือถึงความคืบหน้าของฝ่ายไทยในการเตรียมการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ซึ่งไทยได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเจรจาหลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาแล้ว โดยมั่นใจว่าการเจรจาจะบรรลุผลภายใน2 ปี และยังได้ชักชวนให้สวิสใช้ไทยเป็นประตูทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน
สำหรับการหารือกับสาธารณรัฐเซเชลส์ ทางเซเชลส์ได้ขอบคุณที่ไทยสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก WTO และได้หารือถึงการเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่เซเชลส์เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แต่ยังขาดความสามารถในการผลิตสินค้าด้านการท่องเที่ยว เช่น ของที่ระลึก หัตถกรรม ทั้งนี้ ไทยยังได้แจ้งว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงไทย-แอฟริกา ณ จังหวัดเชียงใหม่ และได้เชิญประธานาธิบดีและรัฐมนตรีเซเชลส์เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย