“พาณิชย์” ชง ครม.ยกเลิกภาษีนำเข้าและยกเลิกโควตาให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจำนวนเกือบ 7 พันรายการ ตามนโยบาย “ปู” ก่อนประกาศในการประชุม WTO ต้นเดือน ธ.ค.นี้
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณายกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (ดิวตี้ฟรี โควตาฟรี) ตามนโยบาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ต้องการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยมีสินค้าจำนวน 6,998 รายการ ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ในวันที่ 3-6 ธ.ค. 2556 ที่อินโดนีเซีย
ทั้งนี้ สินค้าที่จะยกเลิกภาษีดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ แยกเป็นสินค้าเกษตร 1,594 รายการ เช่น สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ ปลาแช่เย็น พืชมีชีวิต มันสำปะหลัง แอปเปิล ข้าวสาลี ถั่วลิสง ไม้ไผ่ เมล็ดโกโก้ เป็นต้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม 5,771 รายการ เช่น สินแร่และหัวแร่ดีบุก เครื่องจักสาน กระดาษ ด้าย ฝ้าย ผ้าทอ เพชรไม่ได้ตกแต่ง นิกเกิล อะลูมิเนียม ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น
โดยการยกเลิกภาษีให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะมีประเทศที่ได้รับประโยชน์รวม 49 ประเทศ เป็นประเทศในทวีปแอฟริกา 34 ประเทศ และประเทศในเอเชีย 14 ประเทศ ละตินอเมริกา และแคริบเบียน 1 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะยกภาษีนำเข้าให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดแล้ว แต่หากต่อไปพบว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากและผิดปกติจนกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ก็สามารถที่จะใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าได้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการป้องกันผลกระทบเข้ามาดูแล
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธาน เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2556 ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนที่จะนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณา และนำไปประกาศในการประชุมรัฐมนตรี WTO ต่อไป
โดยการยกเลิกภาษีและโควตาสินค้าจำนวน 6,998 รายการ คิดเป็น 73.21% ของรายการสินค้าทั้งหมด 9,558 รายการ และการยกเลิกภาษี ส่วนใหญ่ไทยได้ยกเลิกภาษีให้แก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดอยู่แล้ว โดยเฉพาะบางประเทศในอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า ที่จะได้ประโยชน์จากการยกเลิกภาษีในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ธำรงมีกำหนดการที่จะเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรี WTO ในช่วงวันที่ 3-6 ธ.ค. 2556 ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นผู้ประกาศการยกเลิกภาษีสินค้าดังกล่าวต่อสมาชิก WTO เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อไทยว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการค้าเสรี และสนับสนุนประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดให้เข้าสู่ระบบการค้าโลก