xs
xsm
sm
md
lg

“นิวัฒน์ธำรง” จีบสวิสเพิ่มการลงทุนในไทย พร้อมร่วมมือเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-เอฟตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิวัฒน์ธำรง” จีบสวิสเพิ่มการลงทุนในไทย พร้อมเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-เอฟตา เริ่มต้นปี 2557 หวังใช้เป็นเครื่องมือเจาะตลาด 4 ประเทศ สวิส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู ทั้งด้านการค้า ดึงดูดการลงทุน พร้อมสบช่องใช้แก้ปัญหาความไม่แน่นอนเรื่องการให้ GSP

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับ H.E. Mrs. Marie-Gabrielle INEICHEN-FLEISCH รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การศึกษาและการวิจัยสมาพันธรัฐสวิส ที่ได้เดินทางมาไทยพร้อมกับคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งไทยได้เชิญชวนให้นักลงทุนของสวิสเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น และร่วมมือกันในการเพิ่มความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้หมดไป

สำหรับบริษัทที่เข้าพบในครั้งนี้ เช่น บริษัท Novartis ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ บริษัท ABB Schweiz ผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโรงงานไฟฟ้า บริษัท Brainforce AG ผู้ผลิต software และให้บริการด้าน IT บริษัท Pricewaterhouse Coopers ผู้ให้บริการที่ปรึกษาและการบัญชี และ Swiss Asian Chamber of Commerce เป็นต้น

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเอฟตาที่ประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิก คือ สมาพันธรัฐสวิส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยทั้งสองฝ่ายวางแผนที่จะเริ่มเจรจาความตกลง FTA ในต้นปี 2557 และในส่วนของไทยก็มีความพร้อมเต็มที่ หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบกรอบการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-เอฟตาจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้า และการลงทุนให้แก่ไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ไทย เพราะขณะนี้ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้ทำ FTA กับเอฟตาแล้ว หากไทยไม่เจรจาอาจทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากคู่แข่งในอาเซียน และอาจมีการย้ายฐานการลงทุนไปยังอาเซียนอื่นได้ แต่การทำ FTA จะช่วยผลักดันให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนของเอฟตาในอาเซียนได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน การทำ FTA ยังช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สวิสและนอร์เวย์ให้กับไทย เพราะแม้จะตัดหรือเลิกให้ GSP ไทยก็ยังใช้สิทธิภายใต้ FTA ได้ โดยปัจจุบันสินค้าที่ไทยใช้ GSP ของสวิสสูงถึง 43% นอร์เวย์ 41% สินค้าที่ใช้สิทธิสูง เช่น หน้าปัดนาฬิกา ปลาทูน่ากระป๋อง ตัวเรือนนาฬิกา เพชรพลอยและส่วนประกอบ ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพดหวาน อาหารปรุงแต่งต่างๆ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สำหรับสมาพันธรัฐสวิส เป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เป็นผู้ลงทุนสำคัญและศูนย์กลางการเงิน ตลาดทุน และบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการค้า สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทย ในปี 2556 (ม.ค.-ก.ย.) การค้ารวมมีมูลค่า 8,603.57 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นนักลงทุนหลักจากเอฟตาที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด โดยในปี 2555 มีมูลค่าการเข้ามาลงทุนในไทยประมาณ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น