xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ ร่วมเป็นสมาชิก IFFO หนุนทำปลาป่นตามมาตรฐานสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ซีพีเอฟ ร่วมเป็นสมาชิก IFFO สนับสนุนการจัดหาปลาป่นตามมาตรฐานสากล พร้อมหนุนกรมประมงให้ราคาพรีเมียมแก่ปลาป่นจากแหล่งถูกกฎหมาย

หลังจากที่ The International Fishmeal and Fish Oil Organization (IFFO) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนและสร้างมาตรฐานการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายตระหนักต่อการจัดหาแหล่งผลิตวัตถุดิบปลาป่นที่ถูกต้อง ภายใต้กรอบข้อกำหนดของ IFFO ซึ่งผู้ผลิตปลาป่น และผู้ใช้จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ มีการบริหารจัดการโรงงานเป็นอย่างดีตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งหลักการดังกล่าวจะนำภาคการผลิตโดยรวมไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือซีพี ซึ่งทำหน้าที่จัดหาวัตถุดิบปลาป่นเพื่อใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ให้แก่ซีพีเอฟ กล่าวว่า “จากการที่ ซีพีเอฟ ได้ร่วมกับ กรมประมง สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมประมงแห่งประเทศไทย และ IFFO เดินหน้าแผนพัฒนาประมงทะเลไทย โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานจัดหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทปลาป่นที่ถูกต้องตามกรอบสากล ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ซีพีเอฟได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IFFO และนับเป็นผู้นำในการแสดงความรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยั่งยืน และสนับสนุนการทำประมงที่ถูกกฎหมาย  

หลังจากที่สมาชิกได้เข้าร่วม และปฏิบัติตามกรอบของ IFFO แล้วนั้น จะมีการประเมินเพื่อออกใบรับรอง IFFO Responsible Supply (RS) ถือเป็นมาตรฐานที่แสดงถึงการมีส่วนสนับสนุนต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบปลาป่นที่ถูกต้อง และยั่งยืน”

นายไพศาล กล่าวว่า นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทปลาป่นภายในประเทศ ด้วยการออกประกาศสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการโรงงานปลาป่น โดยบริษัทจะจ่ายเพิ่มให้อีกกิโลกรัมละ 3 บาท จากราคามาตรฐานให้แก่โรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง มีเอกสารหลักฐานรับรอง และผ่านการตรวจสอบของกรมประมง ซึ่งจัดเป็นราคาพรีเมียม และได้นำร่องประกาศใช้อัตราพรีเมียมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พบว่าจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ตั้งแต่โรงงานปลาป่น แพปลาเรือประมง ตลอดจนภาครัฐอย่างกรมประมง กรมปศุสัตว์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการด้านการประมงอย่างถูกต้อง รวมถึงมีเอกสารยืนยันแหล่งที่มาของปลาอย่างชัดเจนเป็นระบบมากขึ้น เชื่อว่าหลังจากกรมประมงได้ประกาศกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ทุกภาคส่วนจะมีความพร้อมทั้งระบบ

ทั้งนี้ ลักษณะของวัตถุดิบปลาที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมปลาป่นก่อนที่จะเข้าสู่โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำของซีพีเอฟ จะประกอบด้วย

1.ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งใช้ปลาทูน่าที่มาจากต่างประเทศและมีเอกสารใบรับรองแหล่งที่มา และวิธีการจับปลาอย่างถูกต้อง

2.ปลาเบญจพรรณ ที่ได้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อปลา (ซูริมิ) ปลาเหล่านี้ได้มาจากการจับปลาในน่านน้ำของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการขึ้นทะเบียนเรือจับปลา และกระบวนการจับปลาที่ถูกต้อง ดังนั้น วัตถุดิบปลาใน 2 กลุ่มนี้จะอยู่ในกลุ่มที่มีราคาสูง ภายใต้เงื่อนไขการส่งมอบว่าจะต้องมีเอกสารยืนยัน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

3.กลุ่มปลาเป็ด  ซึ่งเป็นปลาที่ได้จากการทำประมงหลากหลายประเภท เป็นปลาประเภทที่คนไม่นิยมบริโภค จึงเป็นที่มาของการวางระบบการรับรองปลาป่นของกรมประมง โดยระเบียบของกรมประมง การทำประมงของไทยทุกประเภท จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเรือ เรือนั้นต้องมีอาชญาบัตร ต้องมีล็อกบุ๊ก (Log Book) หรือสมุดประจำเรือ ที่จะระบุว่าเรือไปจับปลาจากแหล่งใด ใช้อวนประเภทใด และได้ปลาประเภทใดมา เมื่อเรือประมงนำปลาส่งเข้าแพปลา จะมีใบซื้อขายปลา (MPCD) ที่จะระบุว่าซื้อจากเรือลำใด Log Book อะไร

การมีเอกสารหลักฐานรับรองต่อกันเป็นทอดๆ เช่นนี้ จะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง โดยกลุ่มปลาป่นที่ได้จากกลุ่มปลาเป็ดจะได้ราคาพรีเมียม 3 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ซีพีเอฟยังคงมุ่งมั่นในการเดินหน้าสร้างเส้นทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางธุรกิจสีเขียว เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น