xs
xsm
sm
md
lg

หยุดการแก้ไขปัญหา..ด้วยการกินโชว์-เปิบโชว์กันเสียที / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
ภาพที่ปรากฏต่อสื่อเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา กรณีที่ น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผวจ.ปราจีนบุรี กินปลาช่อนแม่น้ำปราจีนบุรีโชว์ให้ชาวบ้านมั่นใจว่าปลอดภัยจากสารปรอทนั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่มันเป็นเพียงวิธีการปัดฝุ่นไว้ใต้พรหม ทำให้นึกถึงการกินไก่โชว์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่สร้างภาพกลบข่าวลือกรณีไข้หวัดนกระบาดในอดีต
 
ท่าน ผวจ.ก็รู้ดีว่าว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน/โรงงานกระดาษ คือแหล่งปล่อยสารปรอทที่ร้ายแรงที่สุด และสารปรอทเป็นอันตรายร้ายแรงกับประชาชนมากแค่ไหน การออกมาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าว จึงไม่ใช่การแก้ไขสาเหตุ หรือต้นตอของปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ปัญหานี้ยังดำรงอยู่ และเป็นพิษภัยแก่ประชาชนทั้งในปัจจุบัน และเยาวชนที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านที่จะเติบโตขึ้นมาในวันข้างหน้า การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โหดร้ายและใจดำอัมหิตต่อประชาชน 
 
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยและเป็นข่าวต่อสาธารณะ เมื่อมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (Internation POPs Elimination Network : IPEN) และเครือข่ายได้ร่วมกันศึกษาการสะสมของสารปรอทในปลาและคนในพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนอุตสาหกรรม 304 บนพื้นที่ 7,500 ไร่ ซึ่งประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ โรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงร่วม อุตสาหกรรมเคมีบางชนิด บ่อบำบัดน้ำเสีย กองถ่านหินและอื่นๆ ตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน โดยเฉพาะคลองชะลองแวง อันเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน และไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี เป็นแหล่งศึกษาการสะสมของสารปรอท
 
คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กระบวนการเก็บตัวอย่างเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.2555 โดยลักษณะการศึกษาตรวจหาสารปรอทในปลาช่อนจำนวน 20 ตัว โดยใช้อุปกรณ์และกรรมวิธีที่ส่งต่อมาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันข้อโต้แย้ง นับตั้งแต่การเลือกขนาด น้ำหนักตัวปลา วิธีการแล่ปลา เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างเส้นผมของคนในชุมชนจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจสอบด้านสารปรอทโดยเฉพาะ ผลการตรวจวิเคราะห์เส้นผมของประชาชนที่อาศัยใกล้โรงไฟฟ้า และโรงผลิตกระดาษ ในรัศมี 0.5-2 ก.ม.พบว่า ทั้ง 20 คนมีปริมาณสารปรอทสูงเกินค่าปริมาณอ้างอิงของประเทศสหรัฐอเมริกา (การเทียบค่าอ้างอิงกับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดค่าปริมาณอ้างอิงของสารปรอทในเส้นผม) คือ 1.00 PM (ส่วนในล้านส่วน)
 
การมีสารปรอทในเส้นผมสูงเพียง 1 ppm อาจก่ออันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะทารกในครรภ์ เด็กเล็ก และสตรีที่อาจตั้งครรภ์ในอนาคต
 
ทั้งนี้งานศึกษาพบปริมาณสารปรอทในเส้นผมของประชาชนตั้งแต่ 1.628-12.758 ppm โดยร้อยละ 90 ของสารปรอทที่สะสมในร่างกายมนุษย์คือ ปรอทอินทรีย์ (เมทิลเมอร์คิวรี่) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหาร
 
การวิเคราะห์ตัวอย่างปลาช่อน 20 ตัวจากคลองชะลองแวง พบปลาทุกตัวมีปริมาณสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานทางอาหาร โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีอาหารสารปรอทปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.02 ppm (ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98) แต่ปลาในพื้นที่ท่าตูมมีสารปรอทปนเปื้อนตั้งแต่ 0.067-0.22 ppm
 
เรื่องร้ายแรงเช่นนี้ในประเทศที่พัฒนาทั้งหลาย ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญ ที่จะต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
 
ในประเทศเยอรมัน กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมันได้แนะนำหญิงมีครรภ์ ให้งดรับประทานปลาที่มีอายุยืนบางชนิด เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนที่จะส่งผ่านจากแม่ไปยังลูก แม้ว่าโรงงานในบ้านเมืองของเขาจะมีการติดตั้งระบบกรองสารปรอทที่มีประสิทธิภาพก็ตาม
 
ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อทราบข่าวสารปรอทปนเปื้อนจากอาหารทะเลถูกนำเข้าไปขายในประเทศของเขา เจ้าหน้าที่ของรัฐก็รีบออกประกาศให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสารปรอทในปลา (Consumer Advisory on Methylmercury in Fish) ของหน่วยงานอาหารและยาสหรัฐ ( FDA) และหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) ทันที  โดยเฉพาะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสารปรอทในปลาและกุ้งสำหรับสตรีมีครรภ์ และเด็กอ่อน เพราะเขาถือว่าเยาวชนคือหัวใจของการพัฒนา ในคำแนะนำเมื่อปี 2547 หลังจากมีการตรวจพบสารปรอทปนเปื้อนจากอาหารทะเลเข้าสู่ประเทศ เขาบอกประชาชนของเขาว่า
 
1. ห้ามรับประทาน ปลาฉลาม (shark-อ่าวเม็กซิโก) ปลาฉนาก (swordfish) ปลาอินทรี (king mackerel) และปลา Tilefish (อ่าวเม็กซิโก) เนื่องจากมีปริมาณสารปรอทตกค้างสูง (ค่าเฉลี่ย 0.73-1.45 ppm)
 
2. ให้บริโภคกุ้งและปลาที่มีระดับสารปรอทต่ำได้ 2 มื้อต่อสัปดาห์ (12 ออนซ์ หรือ 340 กรัม) ปลา 4 ชนิดที่มีระดับสารปรอทต่ำ (ค่าเฉลี่ย 0.01-0.12 ppm) ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (Tuna, canned, light) ซัลมอนสดหรือแช่แข็ง (Salmon) ปลา Pollock และปลาดุก (catfish) และกุ้งซึ่งมีระดับสารปรอทต่ำกว่าระดับที่ตรวจสอบได้ (Level of Detection = 0.01 ppm) หรือให้บริโภคเนื้อปลาทูน่ากระป๋อง (Tuna, canned, Albacore) ซึ่งบริโภคกันทั่วไป แต่มีสารปรอทสูงขึ้น (ค่าเฉลี่ย 0.35 ppm) กว่าปลาทูน่ากระป๋อง (Tuna, canned, light) ซึ่งมีค่าสารปรอท 0.12 ppm ได้ 1 มื้อ (6 ออนซ์) ต่อสัปดาห์ และปลาและกุ้งข้างต้น อีก 1 มื้อ (6 ออนซ์)
 
3. ให้ตรวจสอบตามคำแนะนำของท้องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของปลาที่จับจากแหล่งน้ำในพื้นที่ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ และชายฝั่ง ถ้าหากไม่มีคำแนะนำ ให้บริโภคได้เพียง 6 ออนซ์ต่อสัปดาห์เท่านั้น และให้ปริมาณน้อยลงเมื่อใช้เลี้ยงเด็กอ่อน
 
นี่คือความรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะของผู้บริหารประเทศที่พึงกระทำ ไม่ใช่แค่ออกกันมากินโชว์/เปิบโชว์เหมือนที่รัฐบาลหรือข้าราชการบ้านเราที่ทำๆ กันอยู่
 
กุ้ง หอย ปู ปลา จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งน้ำจืดและทะเล เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ประเทศของเรามีแม่น้ำลำคลองมากมาย มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีทะเล ทะเลสาบ ล้วนเป็นแหล่งอาหารโปรตีนหลักที่ยังอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่าย หรือมีรายได้จากฐานทรัพยากรดังกล่าว ที่สำคัญโปรตีนจากสัตว์น้ำตามธรรมชาติมีคุณค่าทางอาหาร ที่จะทำให้กุลบุตรกุลธิดาได้เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นโรคขาดสารอาหาร
 
หยุดการแก้ไขปัญหากันด้วยวิธีการกินโชว์ เปิบโชว์กันได้แล้วครับ.
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น